บทความวิชาการ
การุณยสาร : หนทางสู่สันติภาพ
09 เม.ย. 61 | พระพุทธศาสนา
2866

ผู้แต่ง :: พิณจ์ทอง แมนสุมิตร์ชัย

การุณยสาร : หนทางสู่สันติภาพ

พิณจ์ทอง แมนสุมิตร์ชัย (2558)


อาจารย์ประจำสถาบันภาษา
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
www.li.mcu.ac.th


 

บทนำ

ในสภาพสังคมยุคปัจจุบันที่มีการดำเนินชีวิตแบบเร่งรีบความกดดันในเชิงเศรษฐกิจ การใช้ชีวิตแบบเสพวัตถุนิยม ซึ่งเป็นผลพวงมาจากสังคมที่เปิดกว้างมากขึ้น มีการรับข้อมูลข่าวสารจากหลากหลายช่องทาง ส่งผลให้เกิดความแตกต่างทางความคิดและกระบวนทัศน์ของผู้คนในสังคมส่วนหนึ่งก็มาจากสาเหตุของความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม ภูมิศาสตร์ ความเชื่อ ศาสนา เชื้อชาติ ภาษา เป็นต้น ซึ่งเป็นตัวผลักดันให้ผู้คนในสังคมเกิดความขัดแย้งและรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวโน้มที่สังคมไทยจะเพิ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นโดยเริ่มระดับตั้งแต่ความขัดแย้งภายในตนเองปัจเจกบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กร และหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงความขัดแย้งรุนแรงระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะความตึงเครียด ขาดสันติสุขทั้งในชีวิตและสังคม

ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงนั้นเป็นเรื่องปกติของสังคมที่แพร่หลายทั่วไป ตราบใดที่มนุษย์มีการปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ส่งผลทั้งทางบวกและทางลบ โดยสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งก็เนื่องมาจากตัวแปรที่เป็นปัจจัยทั้งภายในและภายนอก กล่าวคือ ความขัดแย้งที่มีผลมาจากตัวแปรที่เป็นปัจจัยภายนอก เช่น ผลประโยชน์ อำนาจ ความสัมพันธ์ คุณค่าหรือค่านิยม ข้อมูล และโครงสร้าง  ส่วนความขัดแย้งที่มีผลมาจากตัวแปรที่เป็นปัจจัยภายในอาทิเช่น อกุศลธรรมและปปัญจธรรมในทางพุทธศาสนา จากข้อความเบื้องต้นจะเห็นได้ว่า หนึ่งในตัวแปรที่ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งและความรุนแรงก็คือความขัดแย้งทางด้านข้อมูล ซึ่งหมายรวมถึง การบกพร่องในวิธีการสื่อสารนั่นเอง

 

จิตวิทยาการสื่อสาร

“จิตวิทยา” เป็นคำที่มาจากภาษาอังกฤษว่า “Psychology” ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษากรีก ๒ คำ คือ “Psyche” หมายถึง “วิญญาณหรือจิต” และ “Logos” หมายถึง ศาสตร์หรือการศึกษา โดยจิตวิทยาเป็นวิชาหนึ่งที่ก่อกำเนิดขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์ที่จะศึกษามนุษย์เพื่อให้เกิดความเข้าใจในตัวมนุษย์ด้วยกันเองให้มากที่สุด (ณัฐภร อินทุยศ, ๒๕๕๖: ๑) ดังจะเห็นได้ว่าการศึกษาจิตวิทยานั้น จุดประสงค์ที่แท้จริงก็เพื่อที่จะเข้าใจ อธิบาย ทำนาย พัฒนา และควบคุมพฤติกรรมด้านต่างๆ ของมนุษย์ในเชิงรูปธรรมที่แสดงออกมา โดยผ่านการสังเกตที่สามารถมองเห็นได้ และพฤติกรรมของมนุษย์ที่เกิดขึ้นขึ้นภายในใจ ยากต่อการสังเกต ทั้งนี้ ก็เพื่อที่จะให้มนุษย์มีการดำเนินชีวิตได้อย่างมีปกติสุข และสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างในสังคมได้อย่างราบรื่น โดยไม่เกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นภายในจิตใจตนเองหรือต่อโลกภายนอก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะที่ไร้ความสันติสุขขยายเป็นวงกว้างออกไป

ปัจจุบัน จิตวิทยาเน้นการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ในเรื่องอินทรีย์ (Organism) สิ่งเร้า (Stimulus) และการตอบสนอง (Response) เป็นหลัก เนื่องจากทำให้เกิดพฤติกรรมต่างๆ และเกิดกระบวนการทางจิตใจขึ้น และการสื่อสารก็เป็นพฤติกรรมอย่างหนึ่งของมนุษย์ ซึ่งมีการแสดงออกโดยธรรมชาติด้วยสัญลักษณ์ และเป็นไปเพื่อแสดงความต้องการด้านต่างๆ ที่อยู่ภายในจิตใจ อันเป็นพฤติกรรมพื้นฐาน ที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์ ทั้งนี้ กิจกรรมการติดต่อสื่อสารของมนุษย์นั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และเกิดโดยอัตโนมัติคล้ายกับการหายใจ ซึ่งในบางครั้งบางคราวมนุษย์แทบจะไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำว่าได้เกิดกระบวนการติดต่อสื่อสารขึ้นแล้วทั้งนี้ คำว่า “กระบวนการสื่อสาร” (Communication Process) หมายถึงการส่งสารจากแหล่งหนึ่งไปยังอีกแหล่งหนึ่งซึ่งต้องอาศัยองค์ประกอบการสื่อสารขั้นต้น วิธีที่ใช้มากที่สุด คือ การพูด การฟัง และการใช้กิริยาท่าทาง

จะเห็นว่า กระบวนการสื่อสารของมนุษย์เกิดจากองค์ประกอบพื้นฐานสำคัญ คือ ผู้ส่งสาร (Sender) สาร (Message) ผู้รับสาร (Receiver) ช่องทางการติดต่อ (Channel) ปฏิกิริยาตอบสนอง (Feedback) เสียงหรือสิ่งรบกวน (Noise) ซึ่งจะมีความแตกต่างกันไปตามบุคลิกภาพและจิตวิทยาส่วนบุคคล เนื่องจากมนุษย์มีความแตกต่างกันทางโครงสร้างของจิตใจ ทั้งนี้เป็นผลมาจากการอบรมเลี้ยงดูที่แตกต่างกัน การดำเนินชีวิตในสังคมที่หลากหลาย รวมทั้งความแตกต่างในระดับสติปัญญา ความคิด ทัศนคติ การรับรู้ การเรียนรู้ การจูงใจ ความเชื่อ และค่านิยมของแต่ละบุคคล ซึ่งปัจจัยโครงสร้างด้านจิตใจทั้งหมดที่กล่าวมานั้น มีส่วนสำคัญในการกำหนดรูปแบบพฤติกรรมการสื่อสารของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการรับข้อมูล การตีความข้อมูล การจดจำข้อมูลที่ได้รับ การนำไปใช้ รวมทั้งการถ่ายโอนข้อมูลที่ได้รับไปยังผู้อื่น การเพิ่มความคิดเห็นส่วนตัวลงไปในตัวสารเพื่อปรุงแต่งข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นความคิดเชิงอคติ หรือเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเสียหาย หรือความสำเร็จในการสื่อสารนั้น

ปัจจัยโครงสร้างด้านบุคลิกภาพส่วนบุคคลมีส่วนสำคัญ ในการกำหนดรูปแบบพฤติกรรมการสื่อสารของมนุษย์ ในแง่การเลือกเปิดรับ (Selective Exposure) การเลือกรับรู้ (Selective Perception) การเลือกจดจำ (Selective Retention) จะเห็นได้ชัดเจนว่า กลไกด้านจิตวิทยาส่วนบุคคลมีบทบาทในฐานะเป็นตัวแทรกอยู่ตรงกลางระหว่าง กระบวนการสิ่งเร้า (ตัวกระตุ้น) กับพฤติกรรมการตอบสนอง การสื่อสารของมนุษย์ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง ๕ คือ การเห็น การได้ยิน การสัมผัส การได้กลิ่น การลิ้มรส และอื่นๆ ที่มนุษย์รับรู้ ถือว่าเป็นสิ่งเร้าภายนอก โดยมนุษย์จะรับรู้ต่อสิ่งเร้าแตกต่างกันไป ตามความพร้อมของสรีรวิทยา และประสบการณ์ส่วนบุคคล จึงเห็นได้ว่ามนุษย์แต่ละคน มักเลือกรับรู้สิ่งเร้าจากสิ่งที่เคยเรียนรู้ และเคยผ่านประสบการณ์มาก่อน ดังนั้น การตีความหมายของมนุษย์ จึงมักจะขึ้นอยู่กับสิ่งที่มนุษย์เคยเรียนรู้ และเคยผ่านประสบการณ์มาก่อนเป็นสำคัญ (รศ. มัลลิกา คณานุรักษ์, ๒๕๔๗: หน้า ๒)

ดังนั้น จิตวิทยาการสื่อสาร จึงมีความสำคัญและความจำเป็นต่อมนุษย์ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เพราะในชีวิตประจำวันนั้น มนุษย์ต้องมีการสื่อสารเกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารในตนเอง การสื่อสารระหว่างบุคคลระดับชุมชน สังคม การสื่อสารในระดับองค์กรของหน่วยงาน และระหว่างประเทศ หากผู้ที่ทำการสื่อสารนั้น มีความรู้ความเข้าใจในหลักจิตวิทยาการสื่อสารแล้ว ย่อมจะรู้จักระมัดระวังเรื่องการใช้ภาษาในการสื่อสารกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นวัจนภาษา หรือ อวัจนภาษา รู้จักการวางตัว การวางสีหน้าท่าทาง รู้จักอดทนอดกลั้น รู้ว่าเมื่อไรควรจะแสดงพฤติกรรมการสื่อสารอย่างไร ไม่ถือเอาความคิดของตนเอง หรือของกลุ่มเป็นใหญ่ ไม่มองว่าการสื่อสารเป็นเรื่องของการแพ้ชนะ หรือ การได้ผลประโยชน์หรือเสียผลประโยชน์ของตน แต่จะมองที่ความถูกต้องของสาร ความไม่บิดเบือนข้อมูล และความเข้าใจระหว่างกันของผู้รับสารและผู้ส่งสาร ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดกระบวนการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิผลแล้ว มนุษย์ยังจะประสบความสำเร็จในการอยู่ร่วมกันกับบุคคลอื่นในครอบครัว ในโรงเรียน ในชุมชน ในองค์กร และในสังคมทุกระดับ ทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายของความสุขแบบประสานให้เกิดขึ้นภายในตนเอง และภายนอกอย่างยั่งยืน (พิณจ์ทอง แมนสุมิตร์ชัย,๒๕๕๘)

การสื่อสาร : บ่อเกิดแห่งความขัดแย้งและรุนแรง

มนุษย์จึงต้องมีวิธีการสื่อสารกับบุคคลรอบข้างหรือสังคมเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด และความต้องการที่แตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ตนเองต้องเผชิญหน้ากับปัญหาความขัดแย้งทางวาจา ทางการกระทำ และทางความคิด เป็นการป้องกันไม่ให้ตนเองต้องตกอยู่ในภาวะของความโดดเดี่ยว แปลกแยกจากสังคม ทั้งยังเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้อื่นกีดกันตัวเองให้ออกจากกลุ่มหรือสังคมอีกด้วย แต่การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและสัมฤทธิผล โดยสามารถทำให้เกิดความพอใจมีความสุขในขณะที่สื่อสาร และเข้าใจสารที่ส่งไปตรงกันหลังการสื่อสารนั้นไม่ใช่เรื่องที่ทำได้โดยง่าย เพราะแต่ละบุคคลก็มีความแตกต่างในทางการศึกษา การเลี้ยงดูปลูกฝัง พื้นฐานทางสติปัญญา ความสนใจ ความถนัด ประสบการณ์ในชีวิต ศาสนา ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม ฯลฯ ซึ่งแต่ละคนก็มีจิตใจเป็นของตนเอง ดังจะเห็นได้ว่า คำพูดคำเดียวกันจากผู้พูดคนเดียวกัน แต่พูดกับผู้ฟังหลายคน หรือพูดในสถานการณ์ต่างกัน อาจทำให้มีการตีความหมายที่แตกต่างกันออกไป ตามแต่ปัจเจกบุคคลนั้น ทั้งนี้หนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างบุคล และก่อปัญหารุนแรงในสังคมก็คือ การสื่อสารโดยไร้จิตวิทยา ทำให้ผู้ที่รับสารเกิดภาวะของความขุ่นเคืองใจ ความวิตกกังวล ความเสียใจ หรือภาวะที่ไร้ความสุขภายในตัวเอง และส่งผลให้เกิดภาวะไร้สันติสุขในสังคมส่วนรวม ซึ่งถ้าบุคคลมีจิตวิทยาการสื่อสารที่ดี ประกอบกับมีองค์ความรู้ทางด้านพุทธศาสนา ก็จะช่วยทำให้การสื่อสารกันระหว่างบุคคล ชุมชน สังคม องค์กร หรือในระดับประเทศ และระหว่างประเทศมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

จากกระบวนการสื่อสารดังกล่าว ในบางครั้งนำไปสู่การส่งสารที่ไม่ใช่ “ตัวสารตามความเป็นจริง” (Factual Message) แต่เป็นการส่งสารที่มีการปรุงแต่งเติม ใส่ความคิดตนเองลงไปไม่ว่าจะเป็นในแง่อคติ หรือฉันทาคติลงไปด้วยในตัวสาร ทำให้เกิดเป็นที่มาของ “ตัวสารตามความรู้สึก” (Feeling Message) ซึ่งบางครั้งก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา ความขัดแย้ง ความไม่เข้าใจกันในสังคม อย่างไรก็ตามสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นตัวที่บ่งบอกพฤติกรรม และแบบแผนการใช้ชีวิตของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นส่วนที่ช่วยเหลือและเกื้อกูลกันในสังคม หรือส่วนที่เป็นปัญหาของชีวิตดังนั้นการสื่อสารที่มาจากใจ เป็นสารที่ส่งออกไปเพื่อให้เกิดภาวะแห่งสันติสุขขึ้นในใจและในสังคมนั้น ต้องเป็นสารที่เปี่ยมไปด้วยความกรุณา ดังที่เรียกว่า “การุณยสาร” (Mercy Message) ซึ่งหลักของความกรุณาเป็นองค์ธรรมอย่างหนึ่งในพรหมวิหาร ๔ ของการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันของเพื่อนมนุษย์ เพราะเป็นธรรมที่ต้องมีไว้เป็นหลักประจำใจและกำกับความประพฤติจึงจะชื่อว่าดำเนินชีวิตแบบหมดจดและปฏิบัติตนต่อมนุษย์สัตว์ทั้งหลายโดยชอบ(พิณจ์ทอง แมนสุมิตร์ชัย,๒๕๕๘: หน้า ๔๒๕)

 

การุณยสาร : อะไรและอย่างไร

คำว่า “สันติภาพ” มีรากศัพท์มาจากภาษาบาลีว่า “ป. สนฺติ + ภาว” หมายถึงภาวะแห่งสันติ พจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ออนไลน์ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่าสันติภาพ หมายถึง ความสงบ ซึ่งคล้ายกับคำว่า “สันติ” ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ (๒๕๕๖) ซึ่งให้คำจำกัดความไว้คือ ความสงบ ความระงับดับหายหมดไปแห่งความพลุ่งพล่านเร่าร้อนกระวนกระวาย ภาวะเรียบรื่นไร้ความสับสนวุ่นวาย ความระงับดับไปแห่งกิเลสที่เป็นเหตุให้เกิดความเร่าร้อนว้าวุ่นขุ่นมัวซึ่งเป็นไวพจน์หนึ่งของนิพพาน ส่วนคำว่า “สันติภาพ” นั้นในพจนานุกรมฉบับเดียวกันได้กล่าวไว้ว่า เป็นภาวะแห่งสันติ; ตามที่ใช้ในปัจจุบัน หมายถึงความสงบภายนอก คือ ภาวะที่สังคมหรือบ้านเมืองสงบ ไม่มีความปั่นป่วนวุ่นวาย ภาวะที่ระงับหรือไม่มีความขัดแย้ง ภาวะปราศจากสงครามหรือความมุ่งร้ายเป็นศัตรูกัน ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าคำจำกัดความที่ได้ให้ความหมายไว้นั้นสามารถสื่อถึงคำว่า สันติภาพในมุมมอง ๒ ระดับ คือ (๑) ระดับปัจเจกบุคคล หมายถึง สันติภาพที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของบุคคล และ (๒) ระดับสังคม หมายถึง สันติภาพที่เกิดขึ้นภายนอกตัวบุคคล

การสื่อสารที่ดีมีประสิทธิภาพในมุมมองของดร. อีริคเบิร์น(Eric Bern) ที่นำเสนอก็คือหลักในการวิเคราะห์พฤติกรรมของมนุษย์ ที่นิยมเรียกกันว่า “การวิเคราะห์การสื่อสารระหว่างบุคคล”(Transactional Analysis หรือ TA) เป็นทฤษฎีทางบุคลิกภาพที่มองจากกรอบของปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของบุคคลตั้งแต่ ๒คนขึ้นไป ซึ่งเป็นเทคนิคในการวิเคราะห์พฤติกรรมมนุษย์เพื่อหาสาเหตุแห่งพฤติกรรม และหาโครงสร้างของบุคลิกภาพอันเป็นต้นตอที่ทำให้เกิดพฤติกรรม ทั้งนี้ เพื่อใช้ในการควบคุมองค์ประกอบที่เสริมสร้างพฤติกรรม (Motivating Factors) รวมทั้งควบคุมองค์ประกอบที่ลิดรอนพฤติกรรม (Demotivating Factors) ได้อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการสื่อสารระหว่างบุคคล และสังคม ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารด้วยวัจนภาษาคือการสื่อสารแบบใช้วาจาพูดคุยและการสื่อสารที่ไม่ใช้วาจาพูดคุย หรือ อวัจนภาษา ทั้งนี้ก็เพื่อสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในการสื่อสาร และเสริมสร้างสันติสุขในสังคมให้ยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม การสื่อสารที่ก่อให้เกิดสันติภาพนั้น มีพื้นฐานมาจาก “การสื่อสารโดยไร้ความรุนแรง”(Nonviolent Communication หรือ NVC) ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาโดย ดร. มาร์แชล โรเซนเบิร์ก (Marshall Rosenberg) โดยเขาอธิบายพื้นฐานหลักของ “การสื่อสารอย่างสันติ” หรือ “ภาษาแห่งความกรุณา” ว่ามนุษย์ทุกคนมีความกรุณาเป็นพื้นฐาน ฉะนั้นเบื้องหลังการกระทำของมนุษย์นั้น ล้วนเป็นไปเพื่อการตอบสนองต่อความต้องการพื้นฐานบางอย่าง หากเราใส่ใจ และให้คุณค่ากับความต้องการของกันและกัน อีกทั้งให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์ และความเข้าใจก่อนคิดแก้ไขปัญหาหรือหาทางออก จะช่วยให้เรามีความเข้าใจ และรับรู้ความต้องการของทุกฝ่าย ดังนั้นโอกาสที่เราจะสานสัมพันธ์ และแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์จะมีมากขึ้นในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับบุคคล ชุมชน จนถึงระดับโลก (ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์, ๒๕๕๔: หน้า ๒๕) ดังจะเห็นได้จาก ๓ ทางเลือกเพื่อการสื่อสารอย่างสันติ

การุณยสารในพระพุทธศาสนา

“ศาสนาพุทธ” เป็นศาสนาที่เน้นหลักของเหตุและผล (Cause and Effect) ซึ่งเป็นปัญญาที่ตรัสรู้โดยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์นั้น เป็นการค้นพบที่สิ้นสุดยุติลงแล้ว ไม่มีทฤษฎีอื่นใดที่ใครจะค้นพบได้อีก ซึ่งอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) นักวิทยาศาสตร์ และบิดาแห่งฟิสิกส์ยุคใหม่กล่าวว่า ศาสนาในอนาคตนั้นเป็นศาสนาของจักวาล จะต้องมองข้ามพระเจ้าที่เป็นตัวตนหรือลัทธิต่างๆ จะต้องมาจากประสบการณ์ จิตวิญญาณ ต้องมาจากความเป็นธรรมชาติ เป็นเหตุผล เป็นวิทยาศาสตร์ และศาสนาที่ตรงกับคำจำกัดความนี้มากที่สุดก็คือ ศาสนาพุทธ และถ้าจะมีศาสนาใดซึ่งจะเข้ากันได้กับแนวคิดของวิทยาศาสตร์ ศาสนานั้นก็คือ ศาสนาพุทธ (กัลยาณมิตร, ๒๕๔๔: หน้า ๑๘๔, อ้างถึงในประทุม ฤกษ์กลาง)

จะเห็นได้ว่า หลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น ได้ให้ขอบเขตของช่องทางการสื่อสารกว้างไปถึงมโนทวารหรือใจ นอกเหนือจากช่องทางการรับรู้ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งเป็นการอธิบายลึกลงไปถึงกระบวนการทางนามธรรมที่ไม่สามารถจับต้องได้ มีความลึกล้ำมากกว่าวิชาจิตวิทยาตะวันตกที่แสดงถึง กระบวนการสื่อสารของมนุษย์ ในเรื่องช่องทางการรับเข้าและส่งออกของสาร คือ ประสาทสัมผัสทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น ผิวสัมผัสซึ่งเทียบได้กับกายตามนัยของพระพุทธเจ้า (Berlo, 1960) ทั้งนี้ มีคำพูดที่แสดงถึงความสำคัญของจิตใจเหนือกาย คือ “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” ซึ่งสอดคล้องกับความเป็นจริงที่ว่า จิตของมนุษย์นั้นเป็นศูนย์รวมในการสั่งการให้กายปฏิบัติตาม ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการทำงานของร่างกาย กระบวนการรู้คิด กระบวนการตัดสินใจ ไปจนถึงกระบวนการสื่อสาร ที่แสดงออกมาเป็นพฤติกรรมที่แตกต่างกันไปตามแต่ระดับจิตของบุคคล

ทั้งนี้ การสื่อสารที่เปี่ยมด้วย“เมตตาจิต” หรือ ความรู้สึกที่มีความสุขกับการเป็นผู้ให้ และการสื่อสารที่เปี่ยมด้วยความ “กรุณา” หรือ ความปรารถนาที่อยากทำให้ผู้อื่นพ้นทุกข์นั้น ผู้เขียนมองว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะแห่งความสุขในกระบวนการสื่อสาร เพราะเป็นการสื่อสารที่ออกมาจากใจของผู้ส่งสาร (Sender) โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความบริสุทธิ์ใจในการส่งข้อมูลข่าวสาร พร้อมทั้งปราศจากอคติหรืออกุศลจิตในการส่งสาร ไม่เอาความรู้สึกนึกคิดของตนเองปรุงแต่งลงไปในตัวสาร เป็นการสื่อสารที่เปี่ยมด้วย “สัมมาทิฏฐิ” และ “สัมมาสังกัปปะ” ตามหลักมรรคมีองค์ ๘ และเมื่อใดที่ผู้ส่งสารเกิดความสุขในการสื่อสารนั้นออกไป ก็เมื่อนั้นที่ผู้ส่งสารกำลังทำกิจอันประกอบพร้อมด้วย พรหมวิหารธรรมข้อ ๓ คือ “มุฑิตาจิต” เพราะเป็นความรู้สึกพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นมีความสุขกับการรับสาร

แต่ทว่าเมื่อใดก็ตาม ที่มนุษย์รู้สึกว่าการส่งสารหรือข้อมูลบางอย่างออกไป จะเป็นตัวการบ่อนทำลายภาวะความสุขของบุคคลอื่น หรือ เป็นการทำลายความสมานฉันท์ของสังคมส่วนรวม ผู้ส่งสารก็น้อมจิตโดยใช้หลัก “โยนิโสมนสิการ” พิจารณาไตร่ตรองถึงข้อเสียหายต่างๆ ในการส่งสาร และใช้หลัก “อุเบกขาธรรม” คือ เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาเห็นผลอันเกิดขึ้น โดยสมควรแก่เหตุและวางใจเฉยได้ ไม่ส่งสารที่จะก่อให้เกิดปัญหาความวุ่นวายต่อบุคคล หรือสังคมออกไป ความแตกแยกระหว่างบุคคลหรือภายในกลุ่ม และปัญหาต่างๆ ในสังคมก็จะไม่เกิดขึ้น

ดังจะเห็นได้จากรณีศึกษาเรื่อง “อภัยราชกุมารสูตร” (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ ม.ม.) ที่นิครนถ์นาฏบุตรได้ทูลให้อภัยราชกุมาร ยกวาทะแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าขณะประทับอยู่ ณ เวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน เขตพระนครราชคฤห์ ซึ่งธรรมะที่ได้จากเรื่องนี้ เป็นการแสดงให้ประจักษ์ถึงพุทธวิธี ที่พระพุทธเจ้าใช้ในการสื่อสาร ให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ เหมาะสมกับกาลเทศะ และสร้างเสริมความปรองดอง กล่าวคือ

ตถาคต... ย่อมรู้วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น

อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น

อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง วาจาที่แท้ และประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ในข้อนั้น ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะพยากรณ์วาจานั้น

ตถาคตย่อมรู้วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น

ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น

อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ และประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ในข้อนั้น ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะพยากรณ์วาจานั้น

ในทำนองเดียวกัน ตัวสาร (Message) ที่มีการส่งออกไปเพื่อให้เกิดสันติภาพนั้นนอกจากจะเป็นสารที่ประกอบด้วยพรหมวิหารธรรม คือ ความกรุณา ซึ่งผู้เขียนขอใช้คำว่า “การุณยสาร” หรือ Mercy Message ยังจะต้องประกอบด้วยองค์ธรรมตามหลักพุทธศาสนา คือ “สัมมาวาจา” หรือวาจาชอบ (Right Speech) หมายถึง วาจาที่ประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ เป็นวาจาสุภาษิต ไม่เป็นทุพภาษิต และเป็นวาจาไม่มีโทษ วิญญูชนไม่ติเตียน คือ วาจานั้นย่อมเป็นวาจาที่กล่าวถูกกาล (๑) เป็นวาจาที่กล่าวเป็นสัจ (๒) เป็นวาจาที่กล่าวอ่อนหวาน (๓) เป็นวาจาที่กล่าว (๔)ประกอบด้วยประโยชน์ (๕) เป็นวาจาที่กล่าวด้วยเมตตาจิต

 

วาจาสุภาษิตนั้น เป็นศีลพื้นฐานของบุคคลที่พึงปฏิบัติในข้อวจีสุจริต คือ  (๑) ละมุสา การเว้นการพูดเท็จ เป็นการพูดสัจจวาจา หมายถึง สารที่ปราศจากการใส่สีตีข่าวและแต่งเติม (๒) ละปิสุณาวาจา การเว้นการพูดส่อเสียด เป็นการพูดสมัคคกรณีวาจา หรือ คำพูดสมานสามัคคี หมายถึง สารที่ปราศจากการใส่ข้อความใดๆ ที่ทำให้เกิดความแตกแยก เช่น การดูหมิ่นดูแคลน หรือสารที่เป็นการชักจูงให้ผู้ที่รับสารเกิดการตีความเข้าใจผิด และแตกความสามัคคีปรองดอง (๓) ละผรุสวาจา การเว้นการพูดคำหยาบ เป็นการพูดสัณหวาจา หรือคำพูดที่อ่อนหวานสุภาพ หมายถึง สารที่ไม่ใช้ถ้อยคำก้าวร้าว หยาบคายและหยาบโลน (๔) ละสัมผัปปลาปะ การเว้นการพูดเพ้อเจ้อเป็นการพูดอัตถสัณหิตาวาจา หรือคำพูดที่มีประโยชน์ หมายถึง สารที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ส่งสาร ผู้รับสาร และสังคมองค์รวม เป็นไปเพื่อก่อให้เกิดความผาสุกและสันติ

         

นอกจากนี้ พระพุทธเจ้ายังได้ทรงสอนเกี่ยวกับหลักธรรม ๕ ประการในการเป็นผู้ฟังที่ดี (พระธรรมปิฎก, ๒๕๓๘: หน้า ๖๔๗) กล่าวคือ (๑) ไม่นึกหมิ่นในเรื่องที่เขาพูด (๒) ไม่นึกหมิ่นผู้พูด (๓) ไม่นึกหมิ่นตัวเอง (๔) ใจไม่ฟุ้งซ่าน ฟังโดยมีจิตหนึ่งเดียว (๕) มนสิการโดยแยบคาย หรือ หลักโยนิโสมนสิการซึ่งเป็นหลักในการทำหน้าที่ทางปัญญาให้เกิดความรู้ความเข้าใจ

 

ดังนั้น การจะเป็นผู้รับสาร (Receiver) ที่ดีและก่อให้เกิดกระบวนการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพนั้น ต้องมีการใช้หลัก “โยนิโสมนสิการ” เพื่อช่วยในการกลั่นกรองข้อมูลอีกชั้นหนึ่ง และเพื่อแยกแยะความถูกต้องแม่นยำของสารที่รับมา พร้อมทั้ง “อย่าเชื่อมงคล ตื่นข่าว” ให้ใช้หลัก “กาลามสูตร” ประกอบการพิจารณา (บรรยายโดยพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, รศ. ดร.) ในการรับข้อมูลข่าวสาร นอกจากนั้น ผู้เขียนมองว่าสิ่งที่จะช่วยเสริมให้เป็น ผู้รับสารที่ดี ก็คือ การฟังอย่างตั้งใจ มีสติ และการสังเกตอย่างเปิดใจกว้าง สะอาด สว่าง บริสุทธิ์ ไร้อคติ ซึ่งเป็นการเดินตามทางของอริยมรรค ๘ ที่พระพุทธองค์ทรงประทานให้ไว้กับสรรพสัตว์กล่าวคือ “สัมมาสติ” และ “สัมมาสมาธิ” นั่นเอง

ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อให้กระบวนการสื่อสารเป็นไปอย่างสมบูรณ์ มีประสิทธิภาพ และสัมฤทธิ์ผลมากยิ่งขึ้น พระพุทธเจ้าทรงแยกวิเคราะห์ผู้รับสารตามระดับปัญญา ซึ่งแตกต่างไปจากหลักการสื่อสารของนักจิตวิทยาตะวันตก ที่วิเคราะห์ผู้รับสาร ตามลักษณะทางกายภาพ เช่น หลักทฤษฎีความแตกต่างระหว่างบุคคล (Individual Differences Theory) ของเดอร์เฟลอร์ (De Fleur, 1966) ที่ให้ข้อคิดว่า บุคคลมีความแตกต่างกันในด้านบุคลิกภาพ สภาพจิตวิทยา ทัศนคติ ค่านิยม ความเชื่อแตกต่างกัน เนื่องจากมีการเรียนรู้จากสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน (ประทุม ฤกษ์กลาง, หน้า ๗) ทั้งนี้ พระพุทธเจ้าทรงเลือกที่จะแสดงธรรมสั่งสอนโปรดบุคคลตามความเหมาะสม ทรงมองว่าบุคคลมีความสามารถที่แตกต่างกัน ตามแต่ระดับของปัญญา โดยในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลศัพท์ (พระพรหมคุณาภรณ์, ๒๕๕๖: หน้า ๑๘๒) ได้แบ่งบุคคลออกเป็น ๔ จำพวก คือ  (๑) อุคฆฏิตัญญู หมายถึง ผู้รู้เข้าใจได้ฉับพลัน แต่พอท่านยกหัวข้อขึ้นแสดง(๒) วิปจิตัญญู หมายถึง ผู้รู้เข้าใจต่อเมื่อท่านขยายความ (๓) เนยยะ หมายถึง ผู้ที่พอจะแนะนำต่อไปได้ (๔) ปทปรมะ หมายถึง ผู้ได้แค่ตัวบทคือถ้อยคำเป็นอย่างยิ่งไม่อาจเข้าใจความหมาย

 

จากที่กล่าวมาเบื้องตัน เป็นแนวทางให้เห็นว่า พุทธวิธีการสื่อสารที่ดีนั้นต้องเป็นการสื่อให้เหมาะสมกับระดับปัญญาที่แตกต่างกันของผู้รับสาร โดยผู้ส่งสารจักต้องใช้เทคนิค และวิธีการสื่อสารต่างๆ ให้เหมาะสมกับผู้รับสาร ยิ่งไปกว่านั้น หลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ในเรื่องกระบวนการสื่อสาร เช่น หลักการพูด หลักการฟัง หลักการเลือกที่จะเชื่อสาร (หลักกาลามสูตร) หลักการวิเคราะห์บุคคล ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ล้วนเป็นองค์ประกอบของหลักการสื่อสารที่ช่วยให้บุคคลมีภาวะความสุขในการส่งสาร และรับสาร ทั้งยังช่วยจรรโลงให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีแบบยั่งยืนระหว่างกันในหมู่เพื่อนมนุษย์ และในสังคมทุกระดับชั้น ทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน องค์กร ประเทศชาติ และโลกให้ธำรงไว้ซึ่งสันติสุขอย่างถาวร

การุณยสาร : หนทางสู่สันติภาพ

จากคำถามที่ว่าเราจะสามารถพัฒนาจิตใจหรือพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ได้อย่างไร? โดยเพื่อให้ผู้ที่มีปัญหา หรือ “ทุกข์” กลายเป็นบุคคลที่พ้นจากห้วงแห่งความทุกข์ และเดินทางไปพบกับภาวะสันติสุขภายในใจ เพราะจากองค์ความรู้ที่มีก็เป็นเพียงกรอบที่ทำให้รู้ว่า “ทุกข์” คืออะไร?สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ (สมุทัย)คืออะไร? ภาวะที่พ้นทุกข์สำหรับมนุษย์แบบเราๆท่านๆ คืออะไร? แต่ว่ายังไม่ทราบถึงหนทางเดินที่ชัดเจนเลยว่า จะเดินไปบนแผนที่อย่างไร? จากการศึกษาอ่านตำรามา ทุกท่านก็คงตอบได้ว่า ก็ทำตามทางอริยมรรค หรือมรรคมีองค์ ๘ แต่ว่าฟังดูเหมือนง่าย ซึ่งการปฏิบัติจริงนั้น ผู้เขียนรู้สึกว่าจะต้องใช้ความเพียร ความมีสติ ฉันทะ และศรัทธาที่ลงตัวอย่างมากที่เดียว เพื่อเป็นบาทฐานในการดำรงไว้ซึ่งสัมมาสติ สัมมาทิฐิ และสัมมาสังกัปปะ ในการจะแสดงออก และพูดออกมาเป็นสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ทั้งนี้การที่จะคงความดีเหล่านี้ไว้ให้ได้ตลอดเวลา โดยไม่ให้จิตใจของเราไหลลงตามกระแสแห่งอกุศลกรรมนั้น ก็จักต้องทำให้ถึงซึ่งความเพียร และความตั้งมั่นในจิตที่ฝึกดีแล้ว ซึ่งก็คือสัมมาวายามะ และสัมมาสมาธินั่นเอง แต่จะทำอย่างไรกับสังคมปัจจุบันที่เร่งด่วน มีการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นในสังคม มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก มีการเกิดความเครียดจากสภาพเศรษฐกิจ มีปัญหาตั้งแต่รากหญ้าจนต้นไม้ใหญ่ จะทำอย่างไรให้ผู้คนในสังคมหันหน้าเข้าหากัน ร่วมมือกัน และสื่อสารกันด้วยถ้อยทีถ้อยอาศัย ทำอย่างไรจึงจะหาหนทางที่จะไปถึงสุดยอดแห่งความสุข ในการมีสันติสุขที่เกิดขึ้นทั้งภายในจิตใจ และภายนอกของสังคม

ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนเลยมองย้อนไปหาคำตอบของชีวิตว่าคืออะไร? ซึ่งท่านพระพรหมบัณฑิต, ศ. ดร. ได้เคยบรรยายไว้ว่า “มนุษย์” นั้นถือกำเนิดมาพร้อมกับ “คุณธรรมที่อยู่ภายในจิตใจ (Framework)”ซึ่งทำหน้าที่เป็นเสมือนโครงสร้างของจิตที่ฝังอยู่ภายในจิตใจของเรา ไม่ว่าจะเป็นอุปนิสัย อนุสัย กิเลส สันดาน และบารมี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็คือเชื้อพันธุ์ หรือเมล็ดพันธุ์ที่จะผ่านการบ่มเพาะ และแตกหน่อออกมาเป็นต้นไม้แห่งปัญญา หรือต้นไม้แห่งความดี ซึ่งสิ่งรอบตัวเราทั้งหลายตั้งแต่ถือกำเนิดมา เช่น พ่อแม่ พี่น้อง การปลูกฝังเลี้ยงดู ประสบการณ์ เพื่อนรอบตัว สัตว์เลี้ยง แม้กระทั่งต้นไม้ใบหญ้า ฯลฯ ก็คือสิ่งที่เป็นเสมือน “องค์ความรู้ (Content)” ที่ถูกป้อนใส่ลงในโครงสร้างของจิตที่มีคุณธรรม หรือ Framework รองรับอยู่แล้ว ซึ่งเป็นไปเพื่อการพัฒนา การเรียนรู้ และการเติบโตขึ้นมาเป็นมนุษย์ในสังคม ซึ่งแต่ละคนนั้นก็มีความแตกต่างกันในความเหมือน การที่คนเรามีประสบการณ์ในแต่ละวัยที่แตกต่างกันไป และแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมในรูปแบบการสื่อสารที่แตกต่างกันนั้น ก็เป็นเพราะว่าเหตุปัจจัยของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน

แล้วอะไรที่จะเป็น “ปัจจัย” ทำให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์? ผู้เขียนขอให้คำตอบว่า คือ การสังเกต และการใช้ชีวิตอยู่อย่าง “รู้ตัว” ไม่ได้อยู่ด้วยความหวังในความคิด เพราะว่าถ้ามนุษย์ใช้ชีวิตอยู่อย่างมีความหวัง หรือที่ไหนมีความหวัง ที่นั่นก็ต้องมีความผิดหวัง แล้วอะไรที่ทำให้มนุษย์ไปยึดว่าต้องใช้ชีวิตอย่างมีความหวัง ก็น่าจะเป็นเพราะว่าทุกวันนี้ มนุษย์ใช้ชีวิตอยู่ด้วยการสังเกตแบบถูกบิดเบือนด้วยความยึดติดในอุปาทานขันธ์ ความไม่แจ้งในการสังเกตการถูกครอบงำด้วยกิเลส ๓ ตัวหลัก คือ โลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งเป็นตัวการในการทำลายสันติสุขของโลกทั้งภายในและภายนอกตัวเรา ดังเช่นการตั้งคำถามว่า ถ้าเราถามคำถามในแง่ความแตกต่างที่ว่า “ผู้หญิง ผู้ชาย สุนัข แมว ต้นไทร ดอกไม้ โต๊ะ และเก้าอี้ มีอะไรที่แตกต่างกันบ้าง? คนเราจะสามารถนึกคำตอบออกได้ทันทีเลยว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้แตกต่างกันอย่างไรบ้าง แต่ถ้าลองเปลี่ยนคำถามไปว่า “ผู้หญิง ผู้ชาย สุนัข แมว ต้นไทร ดอกไม้ โต๊ะ และเก้าอี้ มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คืออะไร? จะมีคำตอบในใจหลายๆ แบบจากหลายๆ ความคิดที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งผู้เขียนก็มีคำตอบในใจว่า “สิ่งที่เหมือนกันนั้นก็คือ สิ่งสมมติ”

 


 

เอกสารอ้างอิง

 

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร:  โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.

พระศรีคัมภีรญาณ, รศ. ดร. (๒๕๕๗). การบรรยายเรื่อง “พุทธจิตวิทยากับการพัฒนาชีวิต”. วันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๗. ห้องเรียนพุทธจิตวิทยา ๓๐๔: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

พระพรหมบัณฑิต, ศ. ดร. (๒๕๕๗). การบรรยายเรื่อง “พุทธจิตวิทยาเพื่อการพัฒนาชีวิต”. วันที่ ๑๕ธันวาคม ๒๕๕๗. ตึกอธิการบดี: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, รศ. ดร.(๒๕๕๗). การบรรยายเรื่อง “การสื่อสารเพื่อสันติภาพ”. วันที่ ๑๕ธันวาคม ๒๕๕๗. ห้องเรียนสันติศึกษา: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

              . บทสัมภาษณ์วันที่ ๒๕มิถุนายน๒๕๕๘. สถาบันภาษา: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

พิณจ์ทอง แมนสุมิตร์ชัย.พุทธจิตวิทยาการสื่อสารเพื่อสันติภาพ. วารสารมหาจุฬาวิชาการ, พระพุทธศาสนากับวิกฤตโลก. ปีที่ ๒ ฉบับพิเศษ เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาโลก ประจำปี ๒๕๕๘.กรุงเทพมหานคร: บริษัท 21 เซ็นจูรี่ จำกัด.(๒๕๕๘).

คณาจารย์คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (๒๕๓๗). ปรองดองสร้างได้. กรุงเทพมหานคร:  คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต). (๒๕๓๘). พุทธธรรม.กรุงเทพมหานคร:  โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.

              . (๒๕๕๒). พุทธธรรม.พิมพ์ครั้งที่ ๑๒. กรุงเทพมหานคร:  โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.

              . พจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลศัพท์. กรุงเทพมหานคร : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๕๖. พิมพ์ครั้งที่ ๑๙.

สุปรีดี สุวรรณบูรณ์, ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร, บทที่ ๑ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการสื่อสารhttp://www.ipesp.ac.th/learning/thai/Manipulator.htmlเข้าถึงเมื่อวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๘.

ประทุม ฤกษ์กลาง, หลักการสื่อสารตามแนวพุทธศาสนา: Buddhist Human Communication Principles. เข้าถึงเมื่อวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๘http://www.bu.ac.th/knowledgecenter/epaper/july_dec2004/pratum.pdf

รศ.ดร.พีระ จิรโสพล, เอกสารประกอบการบรรยาย เรื่อง ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับหลักการสื่อสารมวลชน. เข้าถึงเมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๕๘http://elearning.aru.ac.th/3011102/soc42/topic2/linkfile/print5.htm

รศ. มัลลิกา คณานุรักษ์ (๒๕๔๗), จิตวิทยาการสื่อสารของมนุษย์. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์.

ชลากร เทียนส่องใจ. (๒๕๕๓).การเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลางเชิงพุทธ: หลักการและเครื่องมือสาหรับ

              การจัดการความขัดแย้ง.วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

สถาบันพระปกเกล้า.หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง. สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๗เมษายน ๒๕๕๘, จาก

              http://kpi.ac.th.หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเสริมสร้างสังคมสันติสุข.html

ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์.(๒๕๕๔). สื่อสารอย่างสันติ. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพมหานครสำนักพิมพ์เสมสิกขาลัย.

Berlo, D.K. (1960). The Process of Communication: Introduction to Theory and Practice. San Francisco. Richard Press.

Mcquail, Denis (2010), McQuails's Mass Communication Theory (sixth edition).

Wilbur Schramm and Donald F. Roberts (1971), The Process and Effects of Mass Communication, University of Illinois Press, 1971 : p.13.

Soumya Mukherjee, A Brief History of Communication And Contribution of Wilbur Schramm, 2014 : p.1.

Margot Northey (1992), Impact : A Guide to Business Communication (third edition), Canada: Prentice Hall.

Eric Bern, M.D. (1952). Transactional Analysis.www.ericberne.com. เข้าถึงเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2558.

Eric Berne's Transactional Analysis - TA theory development and explanation

http://www.businessballs.com/transactionalanalysis.htmเข้าถึงเมื่อวันที่6 มกราคม 2558.

 

Thomas A. Harris. (1969). I’m OK – You’re OK by Thomas A. Harris.www.ericberne.com.เข้าถึงเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2558.

(ที่มา: บทความวิชาการ)