www.weipinxgt.com www.hdf598.com www.rzkfqcg.com www.ywd100.com www.gzunitrade.com www.5aziyuan.com www.alsclean.com www.ynzsgc.com www.sdldtg.com www.i-sarima.com www.aijianbing.com www.xushiweigou.com www.haoyulongsp.com www.binqimotor.com www.kenminamipainting.com www.erli30.com www.cdhg88.com www.horse-home.com www.myjxzp.com www.dgselling.com www.chenlongjiancai.com www.zhongkuanwuliu.com www.huameide-sz.com www.shouxitongban.com www.scgcjx0207.com www.qdshengqian.com www.3w800.com www.kl-ad.com www.imshenghuo.com www.xxanlhw.com www.hfkaibo.com www.wlwservice.com www.jxguanghua.com www.zkld2009.com www.duanem.com www.hzwjzs.com www.chdlav.com www.lyxszl.com www.xinlaihuijiaju.com www.hrwholecare.com www.yingyang168.com www.honeywell-lk.com www.yushusanjiangyuanbao.com www.kangningyiyuan.com www.xzkjsxx.com www.jztushuguan.com www.gksswh.com www.jakjxx.com www.yyxlzw.com www.dwdzxx.com www.shszjzx.com www.skf-nsk-fag-ntn.com www.shanghailvhua.com www.yomandoors.com www.wenchengvote.com www.cn-sportsprotectors.com www.fuyixuantc.com www.jiayongdiant.com www.reshousuoj.com www.wuxitianzhile.com www.lsallx.com www.ravor-system.com www.jhbrq.com www.mirrvoll.com www.likekiwi.com www.hbclzqcj.com www.cqqfbxgm.com www.nmgdwjlw.com www.zmdjtzfw.com www.xunchengchaju.com www.gssx-pxgl.com www.sha-jing.com www.zysjmbj.com www.131701.com www.tlyhyy.com www.hbfbfz.com www.hljpadm.com www.fenxiangzhuan005.com www.jv001.com www.ruiyucnc.com www.zhuochenglaser.com www.zhaoshudeng.com www.facebook-france.com www.yuxianchu.com www.139yes.com www.lazonaentertainment.com www.eastofedens.com www.latelier-gourmet.com www.kaisyomaru.com www.tenglonghb.com www.bdsmfreevids.com www.gzshbzw.com www.ymgb0991.com www.setonohanayome.com www.attachmentmoms.com www.njmzyjg.com www.hi4r.com www.exotic-nails.com www.ef25.com www.lslcxx.com
บทความวิชาการ
บทบาทพระสงฆ์กับการพัฒนาพลเมืองของรัฐตามระบอบประชาธิปไตย
14 เม.ย. 61 | พระพุทธศาสนา
20731

ผู้แต่ง :: พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, รศ.ดร.

เข้าชม : ๕๖๖๒ ครั้ง

''บทบาทพระสงฆ์กับการพัฒนาพลเมืองของรัฐตามระบอบประชาธิปไตย''
 
พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, รศ.ดร. (2558)

ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาโท สาขาสันติศึกษา
www.ps.mcu.ac.th

 

ตลอดระยะเวลา ๒,๖๐๐ กว่าปีที่พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาได้เข้าไปสัมพันธ์กับการเมืองการปกครองตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช หรือระบอบราชาธิปไตย ตัวแปรที่ชี้ชัดคือพระพุทธเจ้าทรงมีฐานะก่อนออกผนวชเป็นพระมหากษัตริย์  พระสหายของพระองค์ที่เกี่ยวข้องและสัมพันธ์ก่อนผนวชคือกษัตริย์เช่นกัน และเมื่อพระองค์ออกผนวชแล้ว พระองค์ทรงเข้าไปเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ทั้งทางตรงและทางอ้อมในหลากหลายมิติและสถานการณ์  ในขณะเดียวกัน สาวกบางกลุ่มที่เข้ามาบรรพชาอุปสมบทในองค์กรพระพุทธศาสนามีสถานะของการเป็นกษัตริย์

จากตัวแปรในลักษณะดังกล่าว  จึงเป็นที่มาของการออกแบบหลักธรรม การวางท่าที และพิธีกรรมที่สอดรับกับบริบทของการปกครองในระบอบราชาธิปไตย ดังจะเห็นได้จากการจัดวางธรรมะเพื่อเป็นหลักปฏิบัติสำหรับพระราชา เช่น หลักจักกวัตติสูตร หลักทศพิธราชธรรม และหลักราชสังคหวัตถุธรรม  ในขณะที่การปรับพฤติกรรมและท่าทีของพระสงฆ์ในการดำเนินชีวิตเพื่อให้สอดรับกับสังคมของพระราชานั้น พระองค์ได้ทรงออกแบบหลักการเสขิยวัตรเพื่อเป็นแนวในการวางท่าที หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ “คุณสมบัติผู้ดี” สำหรับพระสงฆ์ที่จะเข้าไปสู่สังคมชั้นสูง อันจะนำมาซึ่งความเคารพและศรัทธาในวัตรปฏิบัติ เพราะพระสงฆ์กลุ่มหนึ่งมาจากกลุ่มคนที่เป็นชนชั้นทาส และจัณฑาล

จะเห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับกษัตริย์ตามระบอบราชาธิปไตยนั้นมีความผสมกลมกลืนทั้งในหลักการดำเนินชีวิต การจัดวางสถานะ และการจัดวางพิธีกรรม แนวทางในลักษณะนี้ถือว่าเป็นการเข้าไปช่วยส่งเสริมบทบาทระหว่างกันและกันมากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อศึกษาจากประวัติศาสตร์ในบางยุคจะพบว่า ความเจริญและความเสื่อมของพระพุทธศาสนานั้นขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับพระราชา ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าปเสนทิโกศล พระเจ้าอชาตศัตรู พระเจ้าอโศกมหาราช พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ รวมไปถึงพระราชาในประเทศศรีลังกา ประเทศพม่า ประเทศกัมพูชา และประเทศลาว

ในขณะที่สังคมไทยนั้น ระบอบราชาธิปไตยนั้นเป็นตัวแปรสำคัญต่อความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา โดยเริ่มต้นตั้งแต่พ่อขุนรามคำแหงทิ่นิมนต์พระศรีลังกามาจากจังหวัดนครศรีธรรมราชให้มาจำพรรษาที่สุโขทัย และประกาศพระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์  การพัฒนาศาสนสถาน  ศาสนวัตถุ ศาสนพิธี และศาสนบุคคล รวมไปถึงการยกย่องศาสดา นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในมิติต่างๆ ในขณะเดียวกัน กษัตริย์ของประเทศไทยตั้งแต่ยุคสุโขทัยได้ศึกษาพระพุทธศาสนาเข้าใจอย่างแจ่มชัดจนนำไปสู่การพระราชนิพนธ์คัมภีร์พระพุทธศาสนาที่สำคัญดังจะเห็นได้จากไตรภูมิพระร่วงจนเป็นที่มาของการสร้างชุดความคิดแบบ “ไตรภูมิพระร่วง” ในการก่อสร้าง การออกแบบ ประติมากรรม และจิตรกรรมที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทยจนมาเสื่อมลงในยุคที่วิทยาศาสตร์เฟื่องฟูในสมัยรัชกาลที่ ๔

พระสงฆ์กับพระมหากษัตริย์ไทยมีความสัมพันธ์กันมากยิ่งขึ้น เมื่อรัชกาลที่ ๕ พยายามที่จะขับเคลื่อนแนวคิดเรื่อง “ชาตินิยม” เพื่อต่อสู่กับลัทธิคอมมิวนิสต์ และการล่าอาณานิคมจากประเทศมหาอำนาจ จึงเป็นที่มาของการรวมศูนย์การบริหารจัดการบ้านเมือง และพระสงฆ์ได้กลายเป็นตัวช่วยที่สำคัญในการสร้างฐานคิดดังกล่าว ดังจะเห็นได้จากการที่พระองค์โปรดให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส และกรมพระยาดำรงราชานุภาพรวมศูนย์การบริหารคณะสงฆ์โดยออกพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ ขึ้นมา เพื่อให้การจัดการศึกษา การบริหาร การปกครอง ในหัวเมืองเป็นไปอย่างมีเอกภาพมากยิ่งขึ้น  หลักการดังกล่าวได้รับการพัฒนาต่อเนื่องมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๗

อย่างไรก็ตาม จุดเปลี่ยนที่สำคัญของโฉมหน้าทางประวัติศาสตร์ขององค์กรสงฆ์ คือ การเผชิญหน้ากับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในอีกมุมหนึ่ง พระสงฆ์ยังต้องรักษาความสัมพันธ์กับระบอบราชาธิปไตยทั้งในแง่ของการนำเสนอหลักการปฏิบัติ พิธีกรรม และความสัมพันธ์ในมิติต่างๆ  ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง พระสงฆ์มีความจำเป็นที่จะต้องจัดวางสถานะขององค์กร และเชิงปัจเจกต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย  จะเห็นว่า ไม่จำเพาะองค์กรสงฆ์ หรือตัวพระสงฆ์เองที่พยายามตั้งหลักว่าจะวางสถานะต่อระบอบใหม่ และผู้ปกครองในระบอบใหม่อย่างไร แต่ผู้ปกครองในระบอบใหม่คือ คณะราษฎร์ก็สับสนเช่นกันว่า จะจัดวางพระสงฆ์ และองค์กรสงฆ์อย่างไร ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ “พระสงฆ์กับสิทธิในการเลือกตั้ง”  ในขณะที่พระสงฆ์เป็นพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย แต่รัฐได้กันพระสงฆ์ออกไปให้มีสิทธิในการเลือกตั้ง

ในขณะที่พระสงฆ์กลุ่มหนึ่งเมื่อเริ่มปรับตัวได้ จึงพากันตั้งข้อสังเกตต่อพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ รศ.๑๒๑ ว่า “ไม่เป็นประชาธิปไตย” เพราะมีลักษณะรวมศูนย์ และไม่เน้นการกระจายอำนาจ (Decentralization) จึงรวมตัวกันไปปรึกษาหารือกับผู้บริหารบ้านเมือง เพื่อให้มีการออกพระราชบัญญัติฉบับใหม่ให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น และจึงเป็นที่มาของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับใหม่ที่สอดรับกับการบริหารบ้านเมืองให้มีการแบ่งแยกอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ที่แยกออกจากกันตามการบริหารบ้านเมือง  ปรากฏการณ์เช่นนี้ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับตัวให้สอดรับกับวิถีประชาธิปไตยของพระสงฆ์ในยุคเริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่ปี ๒๔๗๕

จะเห็นว่า ตั้งแต่ยุค ๒๔๗๕ เป็นต้นมาที่เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย พระสงฆ์ได้พยายามที่จะจัดวางสถานะของตัวเองให้สอดประสานและลงตัวมากที่สุด ทั้งในระบอบเดิม และระบอบใหม่  อย่างไรก็ตาม ในยุคฟื้นฟูของระบอบประชาธิปไตย พระสงฆ์มักจะได้รับการตั้งข้อสังเกตจากผู้บริหารในระบอบประชาธิปไตยอยู่เนืองๆ เช่นกันว่า “สอนหลักการในพระพุทธศาสนาที่ไม่สอดรับกับการพัฒนาประเทศ” และจัดวางสถานะของตัวเองจนทำให้ผู้นำทางการเมืองเกิดความหวาดระแวงต่ออำนาจ และการใช้อำนาจ จนเป็นที่มาของให้พระสงฆ์ได้รับข้อการกล่าวหาในคดีอาญา และให้สึกหาลาเพศจากสมณะ

นอกจากนั้น ในวิถีประชาธิปไตยที่เปิดกว้าง จึงทำให้พระสงฆ์บางรูปได้เข้าร่วมกับรัฐและนำเสนอหลักการที่สนับสนุนรัฐดังวลีที่ว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” จึงทำให้รัฐได้ใช้หลักการดังกล่าวปราบปรามประชาชนที่มีอุดมการณ์และความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่าง จนเป็นที่มาของการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก 

ความต้องการของประชาชนที่มีต่อการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่เพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นที่มาของ “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”  และคำว่า “ความเป็นพลเมือง” จึงเป็นคำที่เริ่มใช้มากขึ้นในช่วง ๒ ทศวรรษของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่หลังจากประชาชนในสังคมได้รวมตัวกันเข้าร่วมขับเคลื่อน กดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และเป็นอำนาจทางการเมืองที่เป็นอิสระจากอำนาจรัฐ จนเกิดการเมืองของพลเมืองที่มีการขยายตัวและทำงานในรูปแบบต่างๆ โดยไม่ต้องพึ่งพาอำนาจจากรัฐ เช่น องค์กร สมาคม องค์กรพัฒนาเอกชน ที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข สื่อสาธารณะ การศึกษา เป็นต้น[1]

ในขณะกระแสประชาธิปไตยกำลังเป็นที่ยอมรับทั้งในทั่วโลก และสังคมไทย เพราะการเมืองมองการปกครองในระบอบนี้มีความเชื่อว่า “ประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของประชาชน ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ประชาชนจึงมีฐานะเป็นเจ้าของประเทศ เพราะประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดของประเทศ ประชาชนจึงเป็นเจ้าของประเทศ  ด้วยเหตุนี้  การปกครองในระบอบประชาธิปไตยไม่เพียงแต่ต้องมีกติกา หรือรัฐธรรมนูญที่จะกำหนดรูปแบบหรือระบบที่ใช้ในการปกครองประเทศภายใต้หลักการดังที่ได้กล่าวมาแล้วเท่านั้น สิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือ “คน” หรือประชาชน ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของประเทศที่มีสิทธิเสรีภาพอย่างเสมอกัน จะต้องมีความสามารถในการปกครองกันเอง ระบอบประชาธิปไตยที่เป็นการปกครองโดยประชาชน หรือการปกครองที่ประชาชนปกครองตนเองจึงจะประสบความสำเร็จได้

คำว่า “คน” หรือ “ประชาชน” ในกรอบของระบอบประชาธิปไตย หมายถึง “พลเมือง”  และระบอบนี้มีความเชื่อว่า ตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือ “ต้องพัฒนาพลเมือง”  เพราะพลเมืองคือรากฐานของประชาธิปไตย ความเป็นพลเมือง (Citizenship) ของระบอบประชาธิปไตยจึงหมายถึง การเป็นสมาชิกของสังคมที่มีอิสรภาพ ควบคู่ไปกับความรับผิดชอบ และมีสิทธิเสรีภาพควบคู่กับหน้าที่โดยมีความสามารถในการยอมรับความแตกต่าง และเคารพกติกาในการอยู่ร่วมกัน พร้อมทั้งมี่สวนร่วมต่อความเป็นไปและการแก้ปัญหาของสังคมของตนเอง[2]

จากกระแสของการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยให้เติบโตอย่างยั่งยืนโดยเริ่มต้นจากการพัฒนาพลเมืองในรัฐดังกล่าว จึงทำให้นักรัฐศาสตร์ นักการเมืองการปกครอง และกลุ่มคนจำนวนมากเริ่มหันกลับมาวิเคราะห์วิถีประชาธิปไตยดั่งเดิมของสังคมไทยที่อยู่บนฐานของความเชื่อแบบไทยดังจะเห็นได้จากข้อสังเกตที่ว่า[3]

คุณค่า วิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมไทย นับเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมความเป็นพลเมืองในสังคมไทย ทั้งนี้ เพราะการส่งเสริมแนวคิดความเป็นพลเมืองให้เกิดขึ้นในสังคมหนึ่งๆ ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมและค่านิยมของคนในชาตินั้นๆ อยู่ไม่น้อย ว่าจะสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวให้ประสบความสำเร็จในประเทศนั้นได้มากน้อยเพียงใด ดังที่มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับวัฒนธรรมของสังคมไทยว่า สอดรับกับแนวคิดเรื่องพลเมืองหรือไม่ การศึกษาวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในบทบาทสังคมประชาธิปไตย จึงอาจเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้การส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยและคุณลักษณะความเป็นพลเมืองในสังคมไทยมีแนวทางที่เหมาะสมโดยตั้งอยู่บนฐานของสังคมไทยเอง

        ฉะนั้น การสร้างความเป็นพลเมืองในสังคมไทยที่ส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตย หรือความเป็นพลเมืองระบอบประชาธิปไตยของไทย ย่อมต้องสอดคล้องกับวัฒนธรรมของสังคมไทย หากไม่สอดคล้องแล้ว ความเป็นพลเมืองดังกล่าวก็ไม่มีความหมาย หรือไม่เป็นที่ยอมรับของคนในสังคม ดังนั้น การสร้างความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทย จึงต้องกระทำควบคู่ไปกับการสร้างวัฒนธรรมไทยที่สอดคล้องกับความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทยด้วย

จากตัวแปรดังกล่าวนั่นเอง จึงทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตว่า “คุณค่าและวิถีชีวิตที่จะเป็นปัจจัยในการพัฒนาพลเมืองในสังคมไทย” มีฐาน และที่มาจากแหล่งใดบ้าง? ซึ่งคนจำนวนมากมองว่าฐานอันเป็นที่มาของคุณค่าและวิถีแบบไทยคือ “พระพุทธศาสนา” ดังจะเห็นได้จากวิชัย ตันศิริที่เขียนไว้ในหนังสือ “วัฒนธรรมพลเมือง” และอธิบายถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนาว่า “ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่มีความแตกต่างจากศาสนาอื่นๆ ที่มีขันติธรรมและเชื่อในเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์ มองโลกแบบผู้รักสันติภาพ จึงอยู่ร่วมกับศาสนาอื่นๆได้โดยไม่มีความขัดแย้ง เพราะพุทธศาสนาไม่ได้เน้นการเปลี่ยนศาสนาของผู้อื่น การสอนพุทธศาสนามีแต่บวกกับบวกในสังคม อันที่จริงความสุขของสังคมไทยนั้น มีรากฐานมาจากคำสอนของพระพุทธศาสนา”[4]

        ในขณะที่ศาสตราจารย์สายชล สัตยานุรักษ์ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนาต่อการพัฒนาพลเมืองว่า “คำสอนของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาของคนส่วนใหญ่ในสังคมไทย อาจจะเน้นในแง่ที่พุทธศาสนาสอนให้เมตตากรุณา ไม่กดขี่เอารัดเอาเปรียบกัน ความคิดเรื่องความเมตตานี้ เราเคยเน้นความเมตตาที่คนใน “ที่สูง” มีต่อคนใน “ที่ต่ำ” หรือความเมตตาระหว่าง “ผู้ใหญ่” กับ “ผู้น้อย” เราก็สามารถจะเปลี่ยนมาเน้นความเมตตาระหว่างคนที่เสมอภาคกัน หรือเน้นความเมตตาที่มนุษย์พึงมีต่อกัน เน้นการใช้ปัญญาในการเข้าใจความเป็นไปต่างๆ และจัดการปัญหาด้วยสติปัญญา การเผชิญหน้ากับความผันผวนและความเสี่ยงต่างๆ อย่างมีสติและปัญญา การตระหนักในความเป็นอนิจจังของทุกสิ่ง ทุกคน ทุกสถาบัน ที่ไม่มีอะไรเที่ยงแท้ แน่นอน หรือหยุดนิ่งตายตัว การปรับเปลี่ยนความหมายบางส่วนหรือทั้งหมดของทุกสิ่งทุกอย่าง จึงเป็นเรื่องปรกติธรรมดาที่สามารถเกิดขึ้นได้” และพระสงฆ์สามารถช่วยกันเปลี่ยนวัฒนธรรมที่เน้นการแบ่งชนชั้นทางสังคมไปสู่สังคมที่เน้นแนวราบที่ให้ความสำคัญแก่ความเสมอภาพ และความเป็นธรรมได้

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ จันทรวงศ์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มองว่า “พระพุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนาที่เน้นสอนเรื่องพลเมือง (Civic Religion) เพื่อให้พลเมืองพัฒนาตนเองไปสู่วิถีประชาธิปไตยได้” สิ่งที่เขาพยายามจะนำมาสนับสนุนสมมติฐานคือเหตุผลเชิงประจักษ์เกิดขึ้นในสังคมไทยที่ว่า (๑) พระพุทธศาสนาสอนให้คนเป็นคนดีเพื่อไปสู่การหลุดพ้นเฉพาะตัว (๒) มุ่งเน้นแง่มุมเชิงโลกุตระไม่สัมพันธ์กับความจริง/สุขทุกข์ของสังคม และ (๓) หลงลืมมิติทางสังคม/มิติความเป็นพลเมืองที่ดี[5]  ข้อสังเกตของเขาสอดรับกับนักคิดตะวันตกบางท่านที่พยายามจะนำเสนอในลักษณะเดียวกัน แมกซ์ เวเบอร์ (Max Weber)  เวเบอร์มองว่า ความหลุดพ้นเป็นเรื่องของความเพียรจำเพาะตัว  ไม่มีใครและโดยเฉพาะไม่มีสังคมไหนสามารถช่วยเขาได้  ความเข้าใจเช่นนี้ได้ทำให้เกิดการปฏิบัติอย่างสุดเหวี่ยง[6]  สอดรับกับบาร์ดเวลล์ แอล. สมิธ (Bardwell L.Smith) ที่มองว่า จุดหมายพื้นฐานดั้งเดิมของพระพุทธศาสนาไม่ใช่สังคมที่ยุติธรรมแม้พระโพธิสัตว์ก็ไม่ได้มีหน้าที่ในฐานะผู้ปฏิรูปสังคม  หากแต่เป็นผู้ส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแต่ละบุคคลที่อยู่ในสังคมเท่านั้น[7]

นอกจากนั้น ดร. มูรติ (T.R.V.Murti) นักวิชาการชาวอินเดีย  ก็มีความเห็นสอดคล้องกันว่า พระอรหันต์พึงพอใจก็แต่ความหลุดพ้นเฉพาะตัว  ท่านไม่สนใจความเป็นอยู่ของผู้อื่น  อุดมคติแห่งพระอรหันต์สร้างขึ้นจากแนวคิดแบบอัตนิยม  ท่านกลัวจนกระทั้งว่าโลกจะจับตัวท่านไว้หากท่านต้องปรากฏในโลกนานเกินไป[8] วินสตัน แอล. คิง (Winston L. King)  ได้วิจารณ์หลักคำสอนและการเผยแผ่พุทธธรรมในยุคต้นค่อนข้างแรงว่าไม่มีความรู้สึกตื่นตัว (insensitivity) ในความอยุติธรรม(ทางสังคม)”  ด้วยเหตุผล ๓ ประการ  คือ () มุ่งหวังแต่พระนิพพาน  เพื่อให้ตนหลุดพ้นจากการเกิดใหม่ในสังสารวัฏ  () รังเกียจแนวคิดในการเรียกร้องความยุติธรรม เพราะเห็นว่าเป็นสาเหตุแห่งการสร้างเวรกรรม  ดังคาถาธรรมบทที่ว่า ชนเหล่าใดเข้าไปผูกเวรว่า คนนี้ได้ด่าเรา ได้ฆ่าเรา  ได้ชนะเรา  และได้ลักสิ่งของของเราไปเวรของชนเหล่านั้น  ย่อมไม่สงบระงับ[9]    และ () การเรียกร้องความยุติธรรมเป็นความเชื่อที่ผิด  เพราะความยุติธรรมมีอยู่แล้วในกฎแห่งกรรม  แม้อาจจะตามสนองช้าไปบ้าง  แต่จะต้องตามสนองอย่างแน่นอน  หลักกรรมเป็นระบบความความยุติธรรมที่สมบูรณ์  ผลของความเชื่อแบบนี้ คือเมื่อสังคมถูกมองในฐานะเป็นเพียงผลรวมแห่งกรรมของปัจเจกบุคคล  การพูดถึงการปรับปรุงหรือการปฏิรูปสังคมในวิถีทางแบบส่วนรวม (collective way) ย่อมไร้ประโยชน์  สังคมใด ๆ ก็ตาม  จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้  ก็ด้วยวิถีทางแห่งการแก้ไขปรับปรุงเป็นรายบุคคลไป[10]

        จากข้อสังเกตที่กลุ่มนักคิด และนักปฏิบัติทั้งสองกลุ่มข้างต้นนั้น ทำให้พบประเด็นที่น่าสนใจว่ากลุ่มที่หนึ่งพยายามที่จะมองว่าพระพุทธศาสนามีจุดเด่นสำคัญที่เอื้อต่อการนำหลักการและหลักปฏิบัติมาอธิบาย และตีความเพื่อให้สอดรับการพัฒนาพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย ในขณะที่กลุ่มที่สองมองว่า พระพุทธศาสนาไม่ได้มีมิติของหลักการและหลักปฏิบัติที่จะนำไปสู่พัฒนา และประยุกต์ใช้ให้เอื้อต่อการพัฒนาพลเมืองได้  ฉะนั้น การที่พระสงฆ์จะเข้าไปมีบทบาทในการพัฒนาพลเมืองให้เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันตามระบอบประชาธิปไตย จึงจำเป็นต้องตอบปัญหาดังกล่าวให้ชัดเจนว่า พระพุทธศาสนามีมิติของการเป็นศาสนาเพื่อการพัฒนาพลเมืองหรือไม่?  และหากยืนยันว่ามีแนวหลักการดังกล่าวอยู่จริง พระสงฆ์จะร่วมมือกับรัฐโดยการนำหลักการดังกล่าวไปพัฒนาพลเมืองอย่างเป็นขั้นเป็นตอนอย่างไร จึงจะทำให้เป็น “คนดีของศาสนาไปสู่การเป็นพลเมืองที่ดีของชาติตามระบอบประชาธิปไตย” และพัฒนาความเป็นพลเมืองที่ดีของชุมชุมไปสู่การเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ  พลเมืองอาเซียน และพลเมืองของโลกได้อย่างยั่งยืน

คำถามมีว่า พระสงฆ์ในฐานะที่เป็นพลเมืองของชาติจะเข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาพลเมืองอย่างไร จึงจะทำให้การอยู่ร่วมกันในระบอบประชาธิปไตยสอดรับกับหลักการประชาธิปไตยที่เน้น “สิทธิ เสรีภาพ เสมอภาพ และภราดรภาพ”  การที่จะทำให้พระสงฆ์เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาพลเมืองให้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในระบอบประชาธิปไตยนั้น จำเป็นต้องเปิดพื้นที่ให้พระสงฆ์สามารถดำเนินบทบาทนี้ในกรอบดังต่อไปนี้

ก. พระพุทธศาสนามีมิติต่อการเป็นศาสนาเพื่อพัฒนาพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตยหรือไม่?  การที่จะตอบว่าพระพุทธศาสนามีมิติของการเป็นศาสนาเพื่อพัฒนาพลเมืองหรือไม่? นั้น จำเป็นต้องกลับไปวิเคราะห์หลักการหรือหัวใจของสิ่งที่ถือได้ว่า “คุณลักษณะของการเป็นพลเมืองที่ดีตามวิถีประชาธิปไตยประกอบด้วยคุณสมบัติอะไรบ้าง?” และจากการศึกษาพบว่า พลเมืองในระบอบประชาธิปไตยต้องประกอบไปด้วยคุณสมบัติ ๖ ประการ คือ (๑) รับผิดชอบตนเองและพึ่งตนเองได้ (๒) เคารพสิทธิผู้อื่น (๓) เคารพความแตกต่าง (๔) เคารพหลักเสมอภาค (๕) เคารพกติกา (๖) มีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาโดยเริ่มต้นที่ตนเอง[11]

ในขณะที่นักคิดด้านประชาธิปไตยบางท่านมองว่า ลักษณะพลเมืองในสังคมประชาธิปไตยที่เป็นสากลเพื่อเตรียมเข้าสู่ศตวรรษที่ ๒๑ นั้นประกอบไปด้วย[12] (๑) การมีความรู้ การศึกษา และความสามารถที่จะมองเห็นและเข้าใจในสังคมของตนเองสังคมโลกเฉกเช่นสมาชิกของโลก (๒) มีความสามารถที่จะทำงานร่วมกันผู้อื่นและรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและผู้อื่นในบทบาทส่วนตน และต่อสังคม (๓) มีความสามารถที่จะเข้าใจ ยอมรับ และอดทนต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรม (๔) มีความสามารถที่จะคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลและเป็นระบบ (๕) มีความเต็มใจที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยท่าทีสันติ ไม่ใช้ความรุนแรง (๖) มีความเต็มใจที่จะเปลี่ยนการใช้ชีวิต และอุปนิสัยการบริโภคเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม (๗)มีความสามารถที่จะเข้าใจและปกป้องสิทธิมนุษยชน (๘) มีความเต็มใจและมีความสามารถที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมือง ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ

ด้วยเหตุนี้ ความเป็นพลเมืองในความหมายใหม่จึงควรเป็นพลเมืองที่มีส่วนเป็นผู้กระทำ มีจิตสาธารณะ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม มีความรับผิดชอบ และพร้อมที่จะเสียสละต่อส่วนรวม มีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ มีความเป็นอิสระ และเคารพในความเสมอภาพไม่ว่าจะผู้นั้นจะยากดีมีจนมากเพียงใดก็ตาม[13] ฉะนั้น พลเมืองของระบอบประชาธิปไตยจึงมีอิสรภาพในการเลือกชีวิต และมีสิทธิเสรีภาพอย่างเสมอภาคกัน แต่ถ้าทุกคนต่างใช้สิทธิเสรีภาพของตนโดยไม่รับผิดชอบ ไม่คำนึงถึงสิทธิของเจ้าของประเทศคนอื่น ไม่คำนึงถึงส่วนรวม หรือเห็นแต่ประโยชน์ของตนเอง สังคมจะเต็มไปด้วยความวุ่นวาย มีแต่ปัญหา และประชาธิปไตยหรือการปกครองตนเองของประชาชนก็ย่อมไปไม่รอด เพราะประชาธิปไตยมิใช่ระบอบการปกครองตามอำเภอใจ หรือใครอยากจะทำอะไรก็ทำได้โดยไม่คำนึงถึงส่วนรวม อิสรภาพของพลเมืองจึงมิใช่อิสรภาพตามอำเภอใจ หากเป็นอิสรภาพที่ควบคู่กับความรับผิดชอบ คือรับผิดชอบต่อตนเอง ผู้อื่น และต่อสังคม[14]

จากหลักการดังกล่าว เมื่อศึกษาวิเคราะห์ภายใต้กรอบของพระพุทธศาสนาจะพบประเด็นที่น่าสนใจว่า หลักการและแนวทางในการพัฒนาเมืองให้มีวิถีชีวิตตามวิถีประชาธิปไตยนั้นสอดรับกับหลักการและแนวทางที่ปรากฏในพระพุทธศาสนาอย่างมีนัยสำคัญ เพราะพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เน้น และให้ความสำคัญต่อการพัฒนาพลเมืองของรัฐตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดย (๑) เน้นการพัฒนาพลเมืองในระดับราบที่เน้นความเสมอภาคโดยปฏิเสธระบบวรรณะที่ให้คุณค่าต่อมนุษย์ในเชิงดิ่งอันสะท้อนถึงการปฏิบัติต่อกันอย่างไม่เท่าเทียมและเที่ยงธรรม (๒) เน้นให้พลเมืองปฏิบัติตามหน้าที่ภายใต้บรรทัดฐาน (Norm) ทางสังคมตามหลักทิศ ๖ (๓) เน้นให้พลเมืองมีจิตสำนึกสาธารณะช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่ได้แบ่งแยกความยากดีมีจน ตามหลักสังคหวัตถุ (๔) เน้นให้พลเมืองไม่เบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ในสังคมตามหลักศีล ๕ (๖)  เน้นให้ประชาชนพึ่งพาตนเองไม่เป็นภาระแก่คนอื่นๆ ในสังคมตามหลักการตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน[15] และ (๗) เน้นให้ประชาชนเคารพคนอื่นหรือสิ่งอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นระเบียบ กติกา หรือกฎหมายบ้านเมืองตามหลักคารวธรรม

จากตัวแปรดังกล่าว แม้ว่าพระพุทธศาสนาจะสัมพันธ์กับผู้นำตามระบอบราชาธิปไตยมากว่า ๒,๔๐๐ ปี แต่พระพุทธศาสนาไม่ได้ยืนยันว่าระบอบใดดีที่สุด แต่เน้นสอนว่า ผู้ปกครองเช่นใดดีที่สุด และเหมาะที่จะปกครองคนอื่นๆ ฉะนั้น ภารกิจหลักของพระองค์คือการเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคนดีให้เป็นพลเมืองดีของรัฐ จะเห็นว่าหลักการ และหลักปฏิบัติที่พระองค์ออกแบบและจัดวางนั้น มีเป้าหมายเพื่อให้เป็นคนดีที่ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม เคารพ ให้เกียรติ ไม่เบียดเบียนคนอื่น และอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ในฐานะพลเมือง โดยเน้นการแก้ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงโดยสันติวิธี

สรุปแล้ว พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มีหลักการและวิธีปฏิบัติซึ่งเน้นการพัฒนาพลเมือง ไม่ว่าพลเมืองนั้นจะอยู่ในระบอบใดก็ตาม เพราะดังที่นำเสนอในเบื้องต้นว่า พระพุทธศาสนาไม่ได้เน้นที่ตัวระบอบ หากแต่เน้นพัฒนาคนที่อยู่ในระบอบ  หากจะกล่าวถึงการพัฒนาพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย หลักการที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนาย่อมสามารถที่จะเป็นฐานสำคัญในการนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาพลเมืองให้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขภายใต้ระบอบนี้

ข. การนำเสนอค่านิยมร่วม (Common Values) ที่สมสมัย สามารถปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม และสอดรับกับวิถีการพัฒนาพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย  ประชาธิปไตยที่ดีและยั่งยืนนั้นควรมีองค์ประกอบที่สำคัญ ๒ ประการ คือ (๑) ความเป็นคนที่ดีบนฐานของหลักการทางศาสนา และ (๒) การเป็นพลเมืองที่ดีบนฐานของการนำหลักการทางศาสนา ค่านิยม วัฒนธรรม ประเพณี และการออกแบบกฎเกณฑ์และกติกาที่ดีมาบูรณาการเป็นหลักการให้พลเมืองภายในรัฐได้ประพฤติปฏิบัติร่วมกันภายใต้การยอมรับและเห็นชอบร่วมกัน  สำหรับค่านิยมร่วม (Common Values) ที่พระสงฆ์ควรนำไปเป็นหลักการและออกแบบเป็นเครื่องมือในการประยุกต์ใช้ร่วมกันในสังคมนั้น ควรจะประกอบด้วยไปส่วนผสมที่สำคัญทั้งความเป็นคนดี และพลเมืองที่ดีดังแผนภูมิต่อไปนี้


 


จากแผนภูมิดังกล่าวนั้น พระสงฆ์อาจจะใช้หลักการทางศาสนามาเป็นฐานในการพัฒนาและฝึกอบรมให้กลุ่มคนต่างๆ เป็น “คนดี” ซึ่งอาจจะเน้นความเป็นคนดีเฉพาะตัว หลังจากนั้น จึงขยายพื้นที่ของความเป็นคนดีไปสู่การเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมต่อไป

(๑) ความเป็นคนดี พระสงฆ์มีบทบาทหลักในการพัฒนาและฝึกอบรมบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเป็นคนดี การทำหน้าที่ในลักษณะนี้จัดได้ว่าเป็นภารกิจหลักของพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงเน้นย้ำให้พระสงฆ์เที่ยวไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข และเพื่ออนุเคราะห์เพื่อนร่วมโลก ด้วยเหตุนี้ “คนดี” ในความหมายเบื้องต้นของทางศาสนาควรประกอบด้วยหลักการต่อไปนี้ คือ ความเป็นคนมีศีลธรรม มีสติ มีมนุษยธรรม มีสัจจะ รู้จักเสียสละ มีเมตตายิ้มแย้ม ใช้ชีวิตพอเพียง มีน้ำใจ และให้อภัยเพื่อนมนุษย์ที่ประพฤติผิดพลาดบกพร่อง

(๒) ความเป็นพลเมืองที่ดี  พระสงฆ์ควรขยายพื้นที่ในการพัฒนาและฝึกอบรมบุคคลและกลุ่มบุคคลที่เป็นคนดีตามความมุ่งหมายของศาสนาให้ก้าวไปสู่เป็นพลเมืองที่ดีตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งความเป็นพลเมืองที่ดีนั้นประกอบด้วยเกณฑ์ชี้วัดดังต่อไปนี้ คือ การสามารถพึ่งตัวเองได้โดยไม่เป็นภาระให้แก่คนอื่นๆ ในสังคม การมีอิสรภาพทางการคิด พูด และแสดงออกตราบเท่าที่ไม่สร้างผลเสียแก่สังคมและคนอื่น การรู้จักเคารพสิทธิผู้อื่น เคารพความเห็นต่าง เคารพกฎกติกา มีส่วนร่วมทางการเมืองและกิจกรรมต่างๆ ในชุมชน การมีความสำนึกรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น โดยทำหน้าที่ในการตอบแทนชุมชนและสังคม รักและห่วงแหนสมบัติสาธารณะของชุมชนโดยการปกป้องผลประโยชน์ของชุมชนและสังคม  จะเห็นความเข้มแข็งของพลเมืองคือความเข็มแข็งของระบอบประชาธิปไตย และพระสงฆ์ในฐานะพลเมืองของรัฐควรเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบอบประชาธิปไตยโดยการพัฒนาพลเมืองให้มีคุณภาพ แนวทางนี้จะสอดรับกับงานวิจัย เรื่อง “บทบาทพระสงฆ์ไทยใน ๒ ทศวรรษหน้า (๒๕๔๑-๒๕๖๐)“ ของพระมหาสุภา อุทโท ที่นำเสนอว่า “พระสงฆ์ควรส่งเสริมการให้ความรู้เรื่องประชาธิปไตยแก่ประชาชน เพราะในอนาคต การเมืองจะมีลักษณะที่เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น เช่น ประชาชนจะมีอำนาจในการปกครองตนเองมากขึ้น มีบทบาทในการตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองมากยิ่งขึ้น”[16]

 ถึงกระนั้น ค่านิยมร่วม (Common Values) ที่ถือได้ว่าเป็นจุดร่วมระหว่างคนดีกับพลเมืองที่ดี อันจะก่อให้เกิดพลังของการสร้างประชาธิปไตยที่ดีและยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องมีจุดร่วมใน ๕ ประเด็นหลัก คือ (๑) สุจริตธรรม ที่มุ่งเน้นการไม่ทุจริตคอรัปชั่นสมบัติสาธารณะที่ไม่ควรมีควรได้ชุมชนหรือสังคมที่ตัวเองได้อยู่อาศัย (๒) คารวธรรม มุ่งเน้นให้พลเมืองเคารพกฎ กติกา และกฎหมาย ที่ชุมชน หรือสังคมได้ร่วมกันออกแบบและยอมรับเป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกัน  (๓) สังคหธรรม มุ่งเน้นให้กลุ่มคนต่างๆ ที่อาศัยอยู่ร่วมกันมีจิตสำนึกสาธารณะ ช่วยเหลือกลุ่มคนที่ด้อยโอกาส และต้องการความช่วยเหลือ (๔) ขันติธรรม มุ่งเน้นให้กลุ่มคนต่างมีความอดทนต่อปัญหาที่เกิดจากความขัดแย้ง เปิดใจกว้างให้สามารถยอมรับความแตกต่างทางความเชื่อ วัฒนธรรม ศาสนา ภาษา และค่านิยมอื่นๆ  (๕) สันติธรรม มุ่งเน้นพลังของสันติภาพ ร่วมกันจัดการกับความขัดแย้งไม่ให้ขยายตัวไปสู่ความรุนแรง โดยการเปิดพื้นที่ให้มีการพบปะ พูดคุย และปรึกษาหารือกันอย่างสมานฉันท์ อันจะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันของระหว่างกลุ่มคนต่างๆ ด้วยการเคารพ ยกย่อง และให้เกียรติซึ่งกันและกัน

ค. การเป็นศูนย์กลางของชุมชนพัฒนาพลเมืองบนฐานคิดของ “บวร”  พระสงฆ์ควรทำหน้าที่เป็นแกนกลางของชุมชน เพื่อพัฒนาพลเมืองที่อาศัยอยู่ร่วมกันในชุมชนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชุมชนชนบท หรือชุมชนเมือง เพราะชุมชนเป็นฐานรากที่สำคัญของสังคม บทบาทในลักษณะนี้ เป็นบทบาทที่พระพุทธเจ้า และพระสาวกในสมัยพุทธกาลได้พยายามที่จะทำหน้าที่ในการเข้าไปพัฒนาชุมชนผ่านคำสอน พิธีกรรม หรือกิจกรรมต่างๆ ดังจะเห็นได้จากการที่พระพุทธเจ้ามองว่า เป็นพุทธกิจที่พระองค์จำเป็นต้องกระทำในทุกเช้าของทุกวันโดยการเดินทางไปโปรดพลเมืองที่อาศัยอยู่ในชุมชน การที่พลเมืองในรัฐต่างๆ เช่น วัชชี โกศล หรือมคธดำรงตนอยู่บนฐานของหลักการที่พระพุทธเจ้าให้แนวทางไว้ ไม่ว่าจะเป็นหลักของศีล ๕ หลักสังคหวัตถุ หลักทิศ ๖ หรือหลักฆราวาสธรรม ทำให้ผู้นำในรัฐต่างๆ สามารถบริหารจัดการพลเมืองในรัฐได้เรียบง่ายมากยิ่งขึ้น

จุดเด่นของชุมชนที่เอื้อต่อการเข้าไปสร้างบทบาทนี้ของพระสงฆ์คือ ชุมชนโดยทั่วไปอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม มีความเป็นพี่เป็นน้องกันสูง และความเป็นสังคมที่แคบย่อมทำให้การช่วยเหลือกันเป็นไปอย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น แต่ตัวแปรที่สำคัญที่จะทำให้พระสงฆ์ดำรงบทบาทนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น คือ การเข้าใจมิติของการพัฒนาพลเมืองตามวิถีของประชาธิปไตย การเข้าใจมิติการเมืองการปกครองที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เพราะในชุมชนต่างๆ มีการกระจายอำนาจและความรับผิดชอบ ทั้งในแง่มุมของผู้ใหญ่บ้าน และองค์การบริหารส่วนตำบล  การเข้าใจกลไกเหล่านี้จะมีผลต่อการเข้าไปทำหน้าที่ในการเชื่อมสมานกลุ่มคนในสังคมได้อย่างทั่วถึงและลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น งานวิจัยของร้อยเอกธนพ นาควัลย์ ได้ทำวิจัย เรื่อง “บทบาทของพระสงฆ์ในการพัฒนาประชาธิปไตย: ศึกษาความเห็นของพระสงฆ์ที่ศึกษาอยู่ในมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” พบคำตอบที่น่าสนใจในประเด็นนี้ ว่า “พระสงฆ์รุ่นใหม่ไม่เห็นด้วยที่พระสงฆ์จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการชุมนุมกับกลุ่มการเมือง แต่หากมองในมิติของการเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองในประเด็นการพัฒนาประชาธิปไตย พระสงฆ์ควรเข้าไปเกี่ยวข้องและร่วมพัฒนาพลเมืองของรัฐ”[17]

ตัวแปรที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้พระสงฆ์ส่วนใหญ่สามารถเข้าไปร่วมพัฒนาพลเมืองได้คือ “บทบาทของการเป็นผู้ให้” และไม่ลอยตัวออกจากฐานของชุมชน  การเติมเต็มชุมชนโดยการให้ทั้งวัตถุ การนำชุมชนไปสู่สังคมแห่งการช่วยเหลือ และแบ่งสุขแบ่งทุกข์ระหว่างกัน การให้ความรู้ที่จำเป็นต่อการพัฒนาชุมชน รวมไปถึงการเปิดพื้นที่ให้ชุมชนใช้สันติวิธีในการจัดการกับปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ย่อมเป็นตัวแปรที่สำคัญที่จะทำให้พระสงฆ์สามารถกลับไปเป็นศูนย์รวมในการมีส่วนร่วมการพัฒนาพลเมืองในชุมชนต่างๆ แนวทางนี้ เดิกไคล์ (Durkheim) ได้ชี้ให้เห็นจุดเด่นของพระสงฆ์ว่า “พระสงฆ์มีบทบาทสำคัญในการกล่อมเกลาเหนี่ยวรั้งจิตใจ สร้างแบบอย่างที่ดี เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า พระสงฆ์มีบทบาทและใกล้ชิดประชาชน ตั้งแต่เกิดจนถึงตาย[18]  โดยแนวทางนี้ พระสงฆ์จึงมีทั้งหน้าที่ตามพระธรรมวินัยที่จะต้องช่วยเหลือประชาชน และสอดรับกับหลักการของประชาธิปไตยที่พระสงฆ์จะต้องเข้าไปช่วยเหลือรัฐบาลในการพัฒนาพลเมืองโดยการอบรมสั่งสอนให้เป็นพลเมืองที่ดี[19]

 ทั้งนี้ รัฐจำเป็นต้องอาศัยศักยภาพด้านนี้ของพระสงฆ์เข้ามาช่วยสนับสนุนรัฐในการพัฒนาพลเมืองโดยไม่กันพระสงฆ์ให้หลุดออกจากชุมชน ซึ่งจะทำให้รัฐสูญเสียพลังทางสังคม (Social Energy) ของพระสงฆ์แทนที่จะดึงมาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง เพราะการที่พลเมืองเข้มแข็งย่อมส่งผลต่อการเข้มแข็งของชุมชน เมื่อชุมชนต่างๆ เข้มแข็งย่อมทำให้สังคมโดยภาพรวมเข้มแข็ง ความเข้มแข็งดังกล่าวย่อมส่งผลในเชิงบวกต่อการบริหารจัดการรัฐได้ดีมากยิ่งขึ้น

(ง) การยกระดับพลเมืองแห่งการตื่นรู้ไปสู่ประชาธิปไตยแห่งการตื่นรู้   พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ให้แนวทางในการพัฒนาพลเมืองให้สอดรับกับระบอบประชาธิปไตยว่า[20]

คุณภาพของประชาธิปไตยขึ้นต่อคุณภาพของประชาชน ถ้าประชาชนมีคุณภาพดี ประชาธิปไตยก็มีคุณภาพดีด้วย ถ้าประชาชนมีคุณภาพต่ำ ประชาธิปไตยก็จะเป็นประชาธิปไตยอย่างเลวด้วย เพราะว่าคุณภาพของประชาธิปไตยขึ้นต่อคุณภาพของประชาชน แล้วคุณภาพของประชาชนขึ้นต่ออะไร ก็ขึ้นต่อการศึกษา” 

ท่านมั่นใจว่า[21] (๑) การศึกษาจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้พลเมืองสามารถควบคุมพฤติกรรมตนเองไม่ให้เบียดเบียนกลุ่มคนอื่นๆ ที่อยู่ร่วมกันในชุมชนและสังคม อีกทั้งจะทำให้พลเมืองเคารพระเบียบ วินัย และกฎเกณฑ์ต่างๆ ของสังคม (๒) การศึกษาจะทำให้พลเมืองมีจิตใจที่เปิดกว้าง ยอมรับความแตกต่าง และยึดมั่นในความจริง (๓) การศึกษาจะทำให้พลเมืองมีปัญญาในการจำแนกแยกแยะว่าอะไรถูก อะไรผิด สิ่งใดควรกระทำ หรือไม่ควรกระทำ  จากแนวทางดังกล่าวจะทำให้พลเมืองสามารถพัฒนาตัวเองไปสู่เป้าหมายที่สำคัญที่ถือได้ว่าเป็นอุดมการณ์ประชาธิปไตย กล่าวคือ ความยึดมั่นในเสรีภาพ ความเสมอภาพ และภราดรภาพ

การที่จะพัฒนาพลเมืองให้เกิดการตื่นรู้ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยแห่งการตื่นรู้นั้น ตัวแปรที่สำคัญประการหนึ่งคือ  พระสงฆ์จะต้องมีบทบาทในการประยุกต์ และนำเสนอหลักการเหล่านี้ไปสู่การปฏิบัติของพลเมืองทั้งในระดับชุมชน และสังคม  เพราะโดยเนื้อแท้แล้ว ประชาธิปไตยแห่งการตื่นรู้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากเราไม่สามารถที่จะพัฒนาพลเมืองให้เกิดการตื่นรู้  ซึ่งการตื่นรู้นั้นประกอบด้วยลักษณะสำคัญ ๒ ประการ คือ ภาวะแห่งการตื่น กับภาวะแห่งการรู้ คำว่า “รู้” หมายถึง “การที่พลเมืองมีวุฒิภาวะที่สามารถจำแนกแยกแยะได้ว่า อะไรควรไม่ควร อะไรดีอะไรชั่ว อะไรถูก อะไรผิด อะไรที่ทำได้ อะไรที่ทำไม่ได้” ในขณะที่การตื่นนั้น เป็นภาวะที่พลเมืองตื่นตัวต่อการความสำนึกรับผิดชอบต่อความเป็นไปของชุมชนและสังคม การตื่นตัวที่พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ความตื่นตัวที่พร้อมจะปฏิบัติตามกฎ กติกา และกฎหมาย

พระสงฆ์จึงควรมีบทบาทสำคัญในการช่วยรัฐทำหน้าที่พัฒนาพลเมืองให้เกิดการตื่นรู้ซึ่งผลที่จะเกิดขึ้นตามมาคือประชาธิปไตยแห่งการตื่นรู้  ตัวแปรสำคัญที่จะทำให้พระสงฆ์สามารถเข้าไปบทบาทในการทำหน้าที่ช่วยเหลือรัฐในลักษณะนี้ คือ (๑) รัฐจำเป็นที่จะต้องเปิดพื้นที่ให้พระสงฆ์ที่อยู่ในชุมชนต่างๆ เข้ามาช่วยรับภาระในการพัฒนาพลเมืองให้เกิดการตื่นรู้ โดยการสนับสนุนทั้งงบประมาณ และองค์ความรู้ใหม่ให้แก่พระสงฆ์เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  (๒) พระสงฆ์จำเป็นที่จะต้องตระหนักรู้ในบทบาทที่สอดรับกับวิถีประชาธิปไตยโดยการปรับทัศนคติ และปรับทิศทางการนำเสนอหลักธรรมที่เอื้อต่อการพัฒนาพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น (๓) มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งอาจจะเข้ามาช่วยเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดกระบวนการเหล่านี้ โดยมีรัฐให้การสนับสนุนงบประมาณ และการวิจัย เพื่อที่จะได้ปรับปรุงแนวทางในการพัฒนาเมืองของพระสงฆ์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ข้อสังเกตที่น่าสนใจในประเด็นนี้คือ ตัวอย่างที่ดีซึ่งพระสงฆ์ได้เข้าไปช่วยรัฐเข้าไปบทบาทในการเข้าไปช่วยรัฐพัฒนาพลเมืองในชุมชนต่างๆ ในสังคมไทยนั้น มิได้เป็นเรื่องที่แปลกใหม่ หรือไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมไทย เพราะจากการวิจัยของพระไพศาล วิสาโลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและพระสงฆ์ในประเด็น “ช่วยรัฐสร้างชาติ” ว่า “ในยุครัชกาลที่ ๕... รัฐมิได้มุ่งหมายที่จะเข้ามาควบคุมคณะสงฆ์ และกิจการด้านศาสนาเพียงเพราะต้องการให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวเท่านั้น หากแต่ยังมุ่งหมายให้คณะสงฆ์ช่วยส่งเสริมการสร้างชาติในด้านอื่นๆ ด้วย”[22] และประเด็นที่น่าสนใจคือ รูปแบบที่พระสงฆ์เข้ามาช่วยรัฐอย่างเป็นทางการนั้นได้เริ่มก่อในยุคนี้

การที่คณะสงฆ์สนองนโยบายของรัฐอย่างปรากฏผลเป็นรูปธรรมนั้น กล่าวได้ว่าเพิ่งปรากฏในสมัยของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สาเหตุสำคัญประการหนึ่งก็เพราะมีระบบราชการที่แผ่คลุม และยึดโยงกับพระสงฆ์ทั่วราชอาณาจักร ระบบราชการนี้เองที่เป็น “มือไม้”ให้รัฐและพระสงฆ์สามารถผลักดันนโยบายของรัฐให้บังเกิดผลได้ ยิ่งกว่านั้น บ้านเมืองก็มีระบบราชการของตนซึ่งคู่ขนานกับระบบราชการของคณะสงฆ์ การประสานและผลักนโยบายให้คณะสงฆ์นำไปปฏิบัติจึงเป็นไปได้ง่ายยิ่งขึ้น[23]

        แนวทางดังกล่าวมิได้ขัด หรือย้อนแย้งกับหลักการในพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงมุ่งเน้นให้พระสงฆ์ยึดโยงกับชุมชน กับที่รัฐจะเข้ามาเปิดพื้นที่ให้พระสงฆ์เข้าร่วมพัฒนาพลเมืองดังกล่าวย่อมเป็นแนวทางที่สอดรับกับเจตนารมณ์ของพระพุทธเจ้าอย่างชัดเจนอยู่แล้ว เพราะตัวแปรหนึ่งที่เห็นได้ชัดที่พระพุทธเจ้าทรงพยายามจะตอกย้ำให้พระสงฆ์ยึดโยงกับชุมชนคือ “รูปแบบการออกแบบจีวร” ที่พระองค์ตรัสให้พระอานนท์ออกแบบจีวรให้เหมือนกับคันนาของชาวมคธ “อานนท์ เธอเห็นนาของชาวมคธ ซึ่งเขาพูนดินขึ้นเป็นคันนาสี่เหลี่ยม พูนคันนาทั้งด้านยาว และด้านกว้าง... เธอสามารถแต่งจีวรของภิกษุทั้งหลายให้มีรูปอย่างนั้นได้หรือไม่?”  เจตนารมณ์ของการออกแบบที่แท้จริงนั้น พระองค์มิได้มุ่งเพียงเพราะการเย็บผ้าที่ไม่เป็นระเบียบ หรือโจรได้ลักขโมยผ้าของพระภิกษุ แต่การที่ให้ออกแบบจีวรยึดโยงกับผืนนาของชาวมคธก็ทรงหวังที่จะให้พระสงฆ์สัมพันธ์กับชุมชน ยึดโยงกับชุมชนที่พระสงฆ์ได้อยู่อาศัยปัจจัย ๔ จากชุมชน แล้วทรงมุ่งหวังให้พระสงฆ์สนองตอบชุมชนด้วยการพัฒนาพลเมืองในชุมชนต่างๆ  ดังที่พระพรหมคุณาภรณ์ได้มองถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับคณะสงฆ์ในบทบาทที่พระสงฆ์เข้าไปช่วยรัฐพัฒนาพลเมืองว่า

ในเมื่อพระสงฆ์ปฏิบัติชอบ ได้ทำหน้าที่เผยแพร่สั่งสอนประชาชนให้รู้อะไรดีอะไรชั่ว อะไรถูกอะไรผิดแล้ว ประชาชนมีศีลธรรม มีคุณภาพจิตดี มีปัญญาเจริญงอกงาม และก็อยู่ร่วมกันด้วยดี การปกครองได้ผลดีในแง่นี้ ก็เป็นการที่ถูกต้อง ส่วนการปกครองให้ง่ายโดยวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ส่วนตน เรากล่าวได้ว่าพระพุทธศาสนาหรือพระสงฆ์เป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ แต่ถ้าปกครองให้ง่ายโดยที่ว่าให้ประชาชนได้มีความร่มเย็นเป็นสุขอยู่ในศีลธรรม ก็ถือว่าเป็นการปกครองที่อาศัยพระพุทธศาสนา อาศัยหลักธรรม อาศัยคณะสงฆ์โดยทางที่ชอบเพื่อเป็นเครื่องเอื้ออำนวยประโยชน์สุขแก่ประชาชน ก็มีเขตแดนกันอยู่ระหว่างการที่ว่าเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ หรือเป็นเครื่องมืออำนวยสุข การที่ว่าเป็นสิ่งเกื้อกูลในการปกครอง ไม่จำเป็นจะต้องถือว่าเป็นเจตนาร้ายที่จะเป็นเครื่องมือเสมอไป[24]

        สรุปว่า การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของไทยให้ยั่งยืนนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาพลเมืองให้รับกับวิถีประชาธิปไตย โดยการพัฒนาลักษณะที่สำคัญของพลเมือง เช่น การมีจิตสำนึกสาธารณะต่อส่วนรวม การเคารพความแตกต่าง กฎกติกา กฎหมาย และกฎเกณฑ์ของสังคม การรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคม และการใช้แนวทางสันติวิธีในการจัดการกับความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในชุมชนและสังคม

        พระพุทธศาสนาจึงควรเป็นทางเลือกที่สำคัญประการหนึ่งในการที่จะเข้ามาช่วยรัฐเพื่อเสริมแรงการพัฒนาพลเมืองโดยเริ่มต้นจาก “คนดี” ไปสู่ “การเป็นพลเมืองที่ดี” ทั้งนี้ พระพุทธศาสนามีจุดเด่นที่สำคัญในฐานะมีหลักการ และแนวทางที่เอื้อต่อการพัฒนาพลเมือง เช่น หลักศีล ๕ หลักทิศ ๖ และหลักสังคหวัตถุ  พระสงฆ์ในฐานะเป็นพลเมืองของรัฐจำเป็นจะต้องเข้ามาร่วมมือกับรัฐในการอธิบาย และตีความหลักการเหล่านี้ไปสู่ภาคปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และนำหลักการเหล่านั้นไปร่วมพัฒนาพลเมืองในชุมชนต่างๆ ให้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขตามหลักการที่พระพุทธเจ้าทรงย้ำว่า “พัฒนาประโยชน์ตน ประโยชน์ของญาติ และเผยแผ่พระพุทธศาสนาเพื่อประโยชน์ของชาวโลก”

 



[1] ทิพย์พาพร ตันติสุนทร, “วิถีไทยกับการเสริมสร้างความเป็นพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย”  ใน ความเป็นพลเมืองกับอนาคตประชาธิปไตย (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, ๒๕๕๕) น. ๓๗.

[2] Bryan S. Turner, “Contemporary problems in the theory of citizenship”, Citizenship and Social Theory, 2000.

[3] ดูใน สถาบันพระปกเกล้า, ความเป็นพลเมืองกับอนาคตของประชาธิปไตยไทย, (กรุงเทพฯ: ส. เจริญ การพิมพ์, ๒๕๕๕).

[4] วิชัย ตันศิริ, วัฒนธรรมพลเมือง, (กรุงเทพฯ: สถาบันนโยบายศึกษา, ๒๕๕๑), ๕๒.

[5] สมบัติ จันทรวงศ์, บรรยายหลักสูตรการเมืองการปกครองในระดับประชาธิปไตยสำหรับผู้บริหารระดับสูง, สถาบันพระปกเกล้า, ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕.

[6]Max Webber, Religion of India : The Sociology of Hinduism and Buddhism (New York: The Free Press, 1958), pp. 206, 213.

[7] Bardwell L. Smith, “Sinhalese Buddhism and the Dilemmas of Reinterpretation,”  The Two Wheels of Dhamma : Essays on the Theravada Tradition in India and Ceyloned., By Smith (Pennsylvania: American Academy of Reeligion, 1972), p. 106.

[8]T.R.V. Murti, The Central Philosophy of Buddhism (London: George Allen and Unwin Ltd.,  1955), p. 263.

[9] ดู ขุ.. (ไทย) ๒๕//๒๕.

[10] Winston L. King, “Judeo-Christian and Buddhist Justice,” Journal of Buddhist Ethics 2 (1995) : 75.  

[11] ปริญญา เทวานฤมิตรกุล, การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง (Civic Education): พัฒนาการเมืองไทยโดยสร้างประชาธิปไตยที่ “คน” ใน http://www.fnfthailand.org/node/85.  เข้าถึงเมื่อ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๖.

[12] John J.Cogan, Multidimensional Citizenship: Educational Policy for the Twenty-First Century, and Executive Summary of the Citizenship Education Policy Study, Tokyo, Japan, 1977.

[13] วิชัย ตันศิริ อ้างใน ทิพย์พาพร ตันติสุนทร, “วิถีไทยกับการเสริมสร้างความเป็นพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย”  อ้างแล้ว, น.๔๐.

[14] ปริญญา เทวานฤมิตรกุล, “การศึกษาเพื่อความเป็นพลเมือง: แก้ปัญหาการเมืองไทยโดยสร้างประชาธิปไตยที่คน”  ใน ความเป็นพลเมืองกับอนาคตประชาธิปไตย (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, ๒๕๕๕) น. ๒๕๑.

[15] “อฺตตา หิ อตฺตโน นาโถ โก หิ นาโถ ปโร สิยา” ตนแลเป็นที่พึ่งของตน คนอื่นใครเราเป็นที่พึ่งให้แก่เราได้ (ถาวร)

[16] สุภา อุทโท, “บทบาทพระสงฆ์ไทยใน ๒ ทศวรรษหน้า (๒๕๔๑-๒๕๖๐), วิทยานิพนธ์พัฒนาชุมชนมหาบัณฑิต, คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๑, น. ๘๘.

[17] ร้อยเอกธนพ นาควัลย์, “บทบาทของพระสงฆ์ในการพัฒนาประชาธิปไตย: ศึกษาความเห็นของพระสงฆ์ที่ศึกษาอยู่ในมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย”, ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขารัฐศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ๒๕๔๒, น. ๘๖.

[18] ดูเพิ่มเติมใน E. Durkheim, The Elementary from the Religious Life (New Jersey: Rutgers University, 1962).

[19]ดูเพิ่มเติมใน ถนอม กิตติขจร, สาส์นของนายกรัฐมนตรีถึงพระธรรมทูต (กรุงเทพฯ: ราชบพิธการพิมพ์, ๒๕๑๒).

[20] พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต), กระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคนสู่ประชาธิปไตย (กรุงเทพฯ: สหธรรมิก, ๒๕๔๓), น.๓-๔.

[21] เรื่องเดียวกัน, น. ๑๓-๑๕.

[22] พระไพศาล วิสาโล, พุทธศาสนาไทยในอนาคต: แนวโน้มและทางออกจากวิกฤต, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์, ๒๕๔๖), น. ๖๖.

[23] เรื่องเดียวกัน, น. ๖๘.

[24] พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต), รัฐกับพระพุทธศาสนาถึงเวลาชำระล้างแล้วหรือยัง, พิมพ์ครั้งที่ ๔ (กรุงเทพฯ: สหธรรมิก จำกัด, ๒๕๓๙), น. ๒๔-๒๕.

 

 

 

(ที่มา: บทความงานวิจัย)