ข่าวประชาสัมพันธ์
ขันติสันติวิธี สลายขัดแย้ง
19 พ.ค. 57 | ข่าวมหาวิทยาลัย
235
ข่าวมหาวิทยาลัย
"ขันติ"สันติวิธี สลายขัดแย้ง
วันที่ ๑๙/๐๕/๒๐๑๔ เข้าชม : ๓๑๔๙ ครั้ง

 

 

พระพรหมบัณฑิต

 

ผู้นำชาวพุทธทั่วโลกระดมสมองนำหลักศาสนาบ่มสันติภาพ

“พระพุทธศาสนา คือ ศาสนาแห่งสันติภาพ และชาวพุทธควรเป็นแบบอย่างของการใช้สันติวิธีแก้ปัญหาขัดแย้ง”

นั่นคือ ผลจากการประชุมของประมุขสงฆ์ ผู้นำชาวพุทธกว่า 80 ประเทศทั่วโลก ที่เดินทางเข้าร่วม การประชุมผู้นำชาวพุทธนานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชาโลก ประจำปี 2557 ที่ประเทศเวียดนามเป็นเจ้าภาพ เมื่อวันที่ 7-11 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีหัวข้อหลักในการประชุม คือ มุมมองของพระพุทธศาสนาต่อการบรรลุเป้าหมายรอบสหัสวรรษของสหประชาชาติ พร้อมขยายความต่อว่า

“เพราะพระพุทธศาสนา ไม่เคยเป็นข้อขัดแย้งจนเกิดเป็นสงครามระหว่างศาสนาอื่นๆ มาก่อนในประวัติศาสตร์ ดังนั้นชาวพุทธจึงควรที่จะต้องเป็นแบบอย่างในการนำหลักขันติ สันติวิธี มาใช้ในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ทั้งยังเรียกร้องให้แต่ละประเทศช่วยกันดำเนินการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งด้วย”

“ทีมข่าวศาสนา” ได้มีโอกาสติดตาม เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการประชุมครั้งนี้ กับคณะสงฆ์ไทย โดย มหาเถรสมาคม (มส.) มีมติส่ง พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส กรรมการมหาเถรสมาคม ในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) และประธานสมาคมสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก เป็นผู้แทนคณะสงฆ์ไทยเข้าร่วมประชุม พร้อมด้วยพระสงฆ์ และตัวแทนองค์กรชาวพุทธจากประเทศไทยรวมกว่า 100 ชีวิตด้วย

พระพรหมบัณฑิต กล่าวถึงผลการประชุมในครั้งนี้ว่า การประชุมครั้งนี้มีการแบ่งกลุ่มย่อยการประชุมเป็น 4 หัวข้อหลัก คือการศึกษา โลกร้อน การพัฒนาอย่างยั่งยืน และการสร้างสันติภาพ ซึ่งผู้นำชาวพุทธให้ความสำคัญกับเรื่องสันติภาพ และการศึกษามาก โดยเฉพาะในเรื่องของสันติภาพ เนื่องจากเห็นว่า พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาเดียวในโลกที่ไม่เคยเกิดความขัดแย้งระหว่างศาสนากับศาสนาอื่น จึงเห็นว่าชาวพุทธควรที่จะเป็นแบบอย่างในการที่นำหลักของพระพุทธศาสนามาใช้ในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง

ขณะเดียวกันตนได้เสนอต่อที่ประชุมด้วยว่าให้มีการประยุกต์คำสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องของปัญญา และกรุณา ไปสอนยังชาวพุทธแต่ละประเทศ เพราะจะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องความขัดแย้งต่างๆได้

ขณะเดียวกัน สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ได้ส่งสาส์นมายังที่ประชุมชาวพุทธนานาชาติ ใจความว่า “อยากให้พุทธศาสนิกชนยึดหลักอริยสัจ 4 คือ 1.ทุกข์ การมีอยู่ของทุกข์ 2.สมุทัย เหตุแห่งทุกข์ 3.นิโรธ ความดับทุกข์ 4.มรรค หนทางนำไปสู่ความดับทุกข์ รวมถึงเรื่องกฎแห่งกรรม ซึ่งหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งสองเรื่องดังกล่าว จะทำให้เรารู้ปัญหาที่มาของปัญหา และรู้วิธีในการแก้ปัญหาด้วย”

ด้าน นายบัน คี มุน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ก็ได้ส่งสาส์นเนื่องในวันวิสาขบูชา มายังที่ประชุมผู้นำชาวพุทธนานาชาติเช่นกัน โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า “พระพุทธองค์ทรงย้ำเตือนให้เราเปิดใจและโอบกอดเพื่อนมนุษยชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่กำลังเรียกร้องความต้องการในช่วงเวลาที่ความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในภูมิภาคเอเชีย และทั่วโลก หลักธรรมคำสอนเหล่านี้จะสามารถช่วยชี้แนะแนวทางแก่รัฐบาลและประชาคมระหว่างประเทศ อีกทั้งสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความพยายามที่จะจัดการกับความท้าทายต่างๆที่โลกของเรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ จากความขัดแย้งอันเกิดจากความอยุติธรรมไปสู่สภาพภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ในขณะนี้ เราควรที่จะยกระดับจิตใจที่คับแคบให้อยู่เหนือความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว คิดและทำในฐานะที่เป็นหนึ่งในสมาชิกของประชาคมโลก”

ทั้งภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมที่ประเทศเวียดนามแล้ว ประมุขสงฆ์ ผู้นำชาวพุทธ ยังพร้อมใจกันเดินทางมาเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาที่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.พระนคร-ศรีอยุธยา ทั้งยังร่วมกันเวียนเทียน เจริญพระพุทธมนต์ เพื่อให้เกิดความสงบสุขขึ้นในประเทศไทย และทั่วโลกด้วย

จากการที่ “ทีมข่าวศาสนา” ได้มีโอกาสร่วมสังเกตการณ์การประชุมชาวพุทธนานาชาติ ที่ประเทศเวียดนามในครั้งนี้ สิ่งที่เรามองเห็นคือ ผู้นำชาวพุทธทั่วโลกแสดงความห่วงใยในปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วโลก ถึงขนาดที่มีการออกเป็นมติของที่ประชุมเพื่อเรียกร้องให้ชาวพุทธทั่วโลก เป็นแบบอย่างของการใช้หลักขันติ สันติวิธี ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วย

ทั้งเรายังมีความเชื่อด้วยความบริสุทธิ์ใจด้วยว่า ไม่เพียงเฉพาะชาวพุทธเท่านั้นที่ไม่ต้องการเห็นความขัดแย้ง แต่ศาสนิกชนของทุกศาสนาก็ล้วนไม่ต้องการเห็นความขัดแย้งเกิดขึ้นเช่นกัน

เพราะเมื่อใดที่เกิดความขัดแย้งขึ้นในประเทศใดก็ตาม โดยเฉพาะหากคนในประเทศต่างแบ่งฝ่าย ซึ่งต่างฝ่ายก็มั่นใจว่าฝ่ายตัวเองถูก และมองด้วยใจที่เต็มไปด้วยมิจฉาทิฐิว่าอีกฝ่ายผิด ทั้งปฏิเสธการใช้สันติวิธี ไม่ยอมเจรจากัน เพื่อหาทางออก ในที่สุดความขัดแย้งก็ย่อมจะลุกลามบานปลายนำไปสู่ความ “ความแตกแยก” และจบลงด้วยความ “หายนะ” ของสังคมประเทศนั้นๆ

ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาที่ขึ้นชื่อว่าเป็นศาสนาแห่งสันติภาพ!!

ที่มา; ทีมข่าวศาสนา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 15 พ.ค. 2557

ข้อมูล; สมหมาย สุภาษิต 

 

 

 


แหล่งข่าว : ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ
Print This Page    Sent to Friend
แสดงความคิดเห็น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • พระพรหมวัชรธีราจารย์, ศ.ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย บรรยายพิเศษเรื่อง บริหารกิจการคณะสงฆ์ในยุคดิจิทัล
    13 พ.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    18
  • สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันวิสาขบูชา 2568 
    11 พ.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    76
  • พระพรหมบัณฑิต, ศ.ดร. ประธานกรรมการสมาคมสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก กล่าวสรุปงาน
    10 พ.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    61
  • รองศาสตราจารย์ ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถวายรายงานต่อประธานในพิธี
    10 พ.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    40
  • พลเอก สุรยุทธ์ จุลานน์ ประธานองคมนตรี กล่าวเปิดงานพิธีเฉลอมฉลองวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก
    10 พ.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    35