ข่าวประชาสัมพันธ์
สกว.ยกลำพูนนำร่องวิจัยท้องถิ่นเชิงพุทธ
21 ส.ค. 57 | ข่าวมหาวิทยาลัย
952
ข่าวมหาวิทยาลัย
สกว.ยกลำพูนนำร่องวิจัยท้องถิ่นเชิงพุทธ
วันที่ ๒๑/๐๘/๒๐๑๔ เข้าชม : ๒๕๘๗ ครั้ง

 

สกว.ยกลำพูนนำร่องวิจัยท้องถิ่นเชิงพุทธ

สกว.ยกลำพูนนำร่องวิจัยท้องถิ่นเชิงพุทธ ใช้'ธรรม'ขับเคลื่อนแก้ปัญหาคนในชุมชน ขับเคลื่อนหมู่บ้านรักษาศีล5

                20สิงหาคม 2557 สถาบันวิจัยหริภุญชัย ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดลำพูน ภายใต้การสนับสนุนของฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)  จัดโครงการเวทีแลกเปลี่ยนเพื่อการขับเคลื่อนโครงการวิจัยเชิงพุทธธรรม ครั้งที่ 1 “ทิศทางงานวิจัยเชิงพุทธธรรม” โดยมีพระราชปัญญาโมลี เจ้าคณะจังหวัดลำพูน เป็นประธานในพิธีเปิดและปาฐกถา ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร)วิทยาลัยสงฆ์ลำพูน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้การดำเนินโครงการวิจัยเชิงพุทธธรรม และหาแนวทางในการพัฒนาโจทย์วิจัย กรอบการดำเนินงาน ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจการดำเนินงานร่วมกับสถานบันการศึกษาและผู้สนใจ รวมถึงสร้างความร่วมมือของหน่วยงานองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

                พระราชปัญญาโมลีปาฐกถาว่า ผู้นำฝ่ายสงฆ์นับเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนจากสาธุชนทั้งหลาย โครงการวิจัยเชิงพุทธธรรมนั้นถ้าได้ปฏิบัติเป็นวิถีชีวิตจะเห็นว่าเป็นโครงการวิจัยที่เรียบง่าย และข้อมูลจำนวนมาก เช่น โครงการขับเคลื่อนหมู่บ้านรักษาศีล 5 จ.ลำพูน ที่มีสมาชิกกว่า 400 หมู่บ้าน หลังจากได้รับการปรึกษาหารือจากสาธารณสุขจังหวัด แพทย์และโรงพยาบาลในจังหวัดลำพูน เกี่ยวกับปัญหาการฆ่าตัวตายของคนลำพูนที่มีสถิติสูงสุด และดื่มสุราติด 10 อันดับแรกของประเทศ จึงต้องใช้หลักธรรมเข้าสู่ประชาชนโดยทำแบบไม่เร่งรีบและไม่ให้คนรู้ตัวว่าขับเคลื่อนไปด้วยจุดประสงค์ใด

                ได้ปรากฏผลงานที่ได้รับหรือปฏิกิริยาตอบรับดีขึ้น สถิติคนฆ่าตัวตายและร้านสุราลดลง แต่พบคนฆ่าตัวตายและดื่มสุราในจังหวัดน่านและพะเยาเพิ่มขึ้น ปัจจุบันคณะสงฆ์ยังสานงานธรรมทูตสัญจรอย่างต่อเนื่อง โดยมีส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมผ่านกำนันและผู้ใหญ่บ้าน มีการนำของขวัญหรือสังฆทานที่คนมาทำบุญไปแจกจ่ายเป็นการคืนกำไรให้ประชาชนในพื้นที่ พร้อมสอบถามชาวบ้านว่าต้องการให้พระสงฆ์ช่วยเหลือเรื่องใดบ้าง โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนร่วมกันรักษาศีล 5 ในทุกตำบลและอำเภอ โดยมีอาจารย์ฝ่ายวิชาการ มจร  เป็นผู้ประเมินโครงการ

                ขณะที่เวทีเสวนา “ทิศทางงานวิจัยเชิงพุทธธรรม” พระครูสุจิณนันทกิจ ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดน่าน ระบุว่าเป้าหมายในการทำงานว่าต้องการให้ชาวบ้านเข้าถึงโอกาสในการทำงาน และได้งานวิจัยที่เป็นคำตอบของชาวบ้าน โดยมีวัดเป็นสถาบันหลักของสังคม และพระเป็นที่พึ่งของคนในชุมชน จึงต้องค้นหาเครื่องมือในการทำวิจัยเพื่อหาปัญหาและคำตอบเพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชน ทั้งนี้น่านมีปัญหาหลายด้านโดยเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน และปัญหาความยากจน

                กระบวนการวิจัยจึงเริ่มด้วยการทบทวนสถานการณ์ปัญหา วิเคราะห์หาสาเหตุ และนำคำตอบมาเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาโดยใช้ธรรมเป็นแนวทาง และให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมด้วยโดยทำให้เห็นความสำคัญของสิ่งใกล้ตัว และเชื่อมโยงสถนการณ์ที่เกิดขึ้นจริงกับวิถีชีวิต ด้วยการศึกษาธรรมคำสอนที่ชาวบ้านเคารพนับถือเพื่อการอยู่ร่วมกัน รวมถึงธรรมที่เป็นธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่จะช่วยเกื้อกูลชาวบ้าน รองรับวิถีของคนในชุมชนให้อยู่ดีกินดี ตลอดจนให้ชาวบ้านได้เรียนรู้การตื่นตัวของสังคม โดยใช้วิธีการจัดเวทีพูดคุยกับชาวบ้าน นำภูมิปัญญาความรู้ของคนในชุมชนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน จนสามารถพบแนวทางการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม งานวิจัยจึงไม่ใช่เรื่องยากหากทำในสิ่งใกล้ตัวและสามารถหาคำตอบในการแก้ปัญหาเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับคนในสังคมได้

                เช่นเดียวกับพระครูสิริสุตานุยุติ ผู้อำนวยการ มจร วิทยาลัยสงฆ์ลำพูน กล่าวว่า การพูดเรื่องธรรมกับชาวบ้านเป็นเรื่องเข้าใจยาก จึงต้องสร้างความเชื่อมั่นศรัทธา ผ่านบทบาทของมหาวิทยาลัยในการปรับหลักคำสอนให้เข้ากับวิถีชีวิตของชาวบ้าน บูรณาการให้เข้ากับท้องถิ่น และจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้กับพระสงฆ์เข้าใจบทบาทของผู้นำฝ่ายสงฆ์ ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องการตีประเด็นหลักธรรมให้แตกฉานและเข้าใจในมุมมองของชาวบ้านให้ได้ก่อนนำไปปฏิบัติ รวมถึงสอบถามปัญหาที่เกิดขึ้น และการสร้างการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในการแก้ไขปัญหา

                ขณะที่พระครูพิพิธสุตาทร (พระมหา ดร.บุญช่วย สิรินธโร) มจร วิทยาเขตเชียงใหม่ (วัดสวนดอก) กล่าวว่า พุทธธรรมเป็นเรื่องของความจริงที่ได้ค้นพบมาและไม่มีใครปฏิเสธได้ หน้าที่ของผู้รู้คือต้องนำความจริงมาแสดงให้ปรากฏ และหาทางดับทุกข์ให้พ้นทุกข์อย่างมีเหตุผลโดยอาศัยธรรมที่มีหลักการใกล้เคียงกับวิทยาศาสตร์ ละเลิกอกุศลทั้งหลายและปฏิบัติธรรมที่เป็นกุศลหรือสิ่งที่ควรทำ รวมถึงทางสายกลางเพื่อนำมาเป็นแนวทางปฏิบัติ

                ด้าน ศ. ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักวิจัย สกว. ให้นิยามของพุทธศาสนาว่าเป็นการจัดระบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับสรรพสิ่ง เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคม โดยสร้างความหมายเชื่อมโยงระหว่างอดีต ปัจจุบันและอนาคตซึ่งเป็นอุดมคติสูงสุดของมนุษย์ สิ่งที่ต้องคิดถึงคือจะทำอย่างไรให้เกิดการประยุกต์พุทธศาสนากับคนธรรมดาเพื่อให้เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข โดยอาศัยการทำให้เกิดจินตนาการและสร้างอุดมคติร่วมกันของมนุษย์

                ส่วนการวิจัยเป็นการแสวงหาความรู้ที่เกิดจากคำถามซึ่งจะนำไปสู่การแสวงหาความรู้หรือคำตอบ โดยสิ่งสำคัญคือต้องมองใน 3 มิติ คือ 1. ต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคมก่อนเพื่อนำไปสู่ตัวปัญหา เช่น เข้าใจปัญหาความยากจนของแต่ละชุมชนพื้นที่ สัจธรรมการเกิดแก่เจ็บตายหรือทุกข์ทั้งหลายถูกอธิบายในแต่ละศาสนาแตกต่างกัน ไม่ควรสรุปปัญหาง่าย ๆ และไม่ระมัดระวัง 2. พยายามทำความเข้าใจและแสวงหาความรู้เชิงปฏิบัติการ เพื่อควบคุมตนให้คิดเสมอว่ากำลังทำอะไร กระทบใครบ้าง โดยมีศีลเป็นตัวกำกับตัวเราให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ในสังคม 3. ผลักดันงานวิจัยในเชิงปฏิบัติการหรือข้อกำกับต่าง ๆ ตามหลักพุทธศาสนาให้ฝังเข้าไปอยู่ในใจของคน เพื่อผลักดันสังคมไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านให้ก้าวต่อไปได้ แต่ในความเป็นจริงเราไม่สามารถแก้ปัญหาผ่านคำสอนได้เพราะการสอนจะมีค่าต่อเมื่อคนถูกสอนโหยหาคำตอบที่เป็นอุดมคติของชีวิต และปัจจุบันพบว่ามีคนกลุ่มชนชั้นกลางจำนวนหนึ่งที่โหยหาคำตอบจากลัทธิใหม่มากขึ้น การใช้อำนาจรัฐในการกำกับเพียงอย่างเดียวไม่ได้ผล สิ่งที่ควรทำจึงไม่ใช่อาศัยอำนาจจากข้างบนหรือพุทธศาสนาแต่เป็นอำนาจที่ฝังอยู่ในใจของคน

                ส่วนหนานชาญ อุตธิยะ พี่เลี้ยงงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดลำปาง กล่าวว่า จากการเข้าไปมีส่วนร่วมกับทุกส่วนของชาวบ้านในชุมชน จึงถูกคาดวังว่าจะเป็นผู้หนึ่งที่นำวิถีพุทธเข้าไปขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นให้กับชาวบ้านได้ ซึ่งจากการเรียนรู้พบว่ามีทั้งข้อห้ามและข้อปฏิบัติ ซึ่งข้อปฏิบัตินั้นทำได้ยากจึงต้องมีวิธีนำธรรมเข้าไปอยู่ในใจคนด้วยการใช้ตัวเองเป็นหนูทดลองเพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีและเป็นตัวอย่างแก่ชาวบ้าน การนำความรู้ไปสู่การปฏิบัติเป็นเรื่องสำคัญ แต่สังคมภาพใหญ่กำลังขาดคนกล้าที่จะนำความรู้ไปสู่การปฏิบัติ จึงต้องใช้ความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างมาก แท้จริงนั้นธรรมคือหลักเกณฑ์ธรรมชาติที่วางไว้แล้ว แต่จะดึงหลักธรรมความรู้นั้นออกมาใช้อย่างไร และต้องทำในสิ่งที่รู้และทำมาก่อนจึงจะสร้างศรัทธาได้ งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นการแสวงหาความจริงหรือหลักของธรรมชาติ เราวิเคราะห์ปัญหาได้ด้วยหลักอริยสัจสี่ และต้องเปลี่ยนแปลงปัญหาให้เป็นโอกาสของชุมชนเพื่อให้หลุดพ้นจากวงจรของความทุกข์ ให้ชาวบ้านเห็นว่าการทำในสิ่งที่ดีและถูกต้องเป็นบุญกุศลที่เกิด ณ วันที่ทำ ไม่ต้องรอขึ้นสวรรค์หรือชาติหน้า

                ตัวอย่างงานวิจัยเชิงพุทธในจังหวัดลำพูน คือ การกำหนดยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อมุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงอาหาร จัดการฐานทรัพยากร และวัฒนธรรมยั่งยืน โดยศูนย์ประสานงานวิจัยท้องถิ่น จังหวัดลำพูน ซึ่งใช้วิถีพุทธในการขับเคลื่อนให้คนเกิดความเชื่อและศรัทธาเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติดีปฏิบัติชอบของคนในชุมชน ในปีงบประมาณ 2558 กำหนดเป้าหมายให้เกิดนวัตกรรมองค์กรเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนในจังหวัดลำพูน โดยใช้หลักความเชื่อมั่นในมาตรฐานเป็นตัวขับเคลื่อน และมี “คน” เป็นตัวกำกับในการทำเกษตรกรรม ซึ่งได้เชื่อมโยงการทำงานร่วมกับหลายองค์กร เช่น มหาวิทยาลัยแม่โจ้ในการทำโรงเรียนออแกนิก และมูลนิธิสวนพุทธธรรมในการประกอบสัมมาอาชีวะ โดยมีหลักการดำเนินชีวิตที่มีความสุข คือ อยู่อย่างเรียบง่าย พอเพียง และช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ อย่างน้อยเกษตรกรต้องมีศีลธรรมและสัมมาอาชีวะ ทำเกษตรอินทรีย์โดยไม่เบียดเบียนตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อม ตั้งจิตอธิษฐานขณะปลูกผักซึ่งเป็นทั้งอาหารและยา รวมถึงรักษาระบบนิเวศ

ที่มา; คมชัดลึก 20 สิงหาคม 2557

สมหมาย  สุภาษิต


แหล่งข่าว : ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ
Print This Page    Sent to Friend
แสดงความคิดเห็น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันวิสาขบูชา 2568 
    11 พ.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    56
  • พระพรหมบัณฑิต, ศ.ดร. ประธานกรรมการสมาคมสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก กล่าวสรุปงาน
    10 พ.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    46
  • รองศาสตราจารย์ ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถวายรายงานต่อประธานในพิธี
    10 พ.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    33
  • พลเอก สุรยุทธ์ จุลานน์ ประธานองคมนตรี กล่าวเปิดงานพิธีเฉลอมฉลองวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก
    10 พ.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    26
  • "ปฏิญญาโฮจิมินห์" พุทธศาสนิกชนทั่วโลกประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน หนุนศักดิ์ศรีมนุษย์และสันติภาพถ้วนหน้า
    08 พ.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    87