ข่าวประชาสัมพันธ์
มจร สานสัมพันธ์การศึกษาพระพุทธศาสนาของชาวไตลื้อ
17 เม.ย. 53 | ข่าวมหาวิทยาลัย
352
ข่าวมหาวิทยาลัย
มจร สานสัมพันธ์การศึกษาพระพุทธศาสนาของชาวไตลื้อ
วันที่ ๑๗/๐๔/๒๐๑๐ เข้าชม : ๗๙๗๖ ครั้ง

ยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ๑๒ เมษายน ๕๓: คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย นำโดย พระสุนทรกิตติคุณ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยวิทยาเขตพะเยา ได้เดินทางไปยังสิบสองปันนา ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน สืบเนื่องจากสำนักงานการค้ามณฑล สำนักงานท่องเที่ยวมณฑล ศาลากลางเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา และบริษัทอสังหาริมทรัพย์ไฮ่เฉิน ได้มีหนังสือเชิญ วิทยาเขตพะเยา ร่วมจัดนิทรรศการทางการศึกษา งานแสดงสินค้าและการท่องเที่ยวลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ ๑๓ ณ เมืองเชียงรุ้ง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ ๙ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๓ นอกจากนี้ ยังได้ไปติดตามความคืบหน้าหลังจากที่ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงแลกเปลี่ยนการศึกษา พระพุทธศาสนาและวัฒนธรรม ระหว่าง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา ประเทศไทย กับ วิทยาลัยพระพุทธศาสนา สิบสองปันนา สาขามณฑลยูนนาน เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๕๐ โดยมีการแลกเปลี่ยนพระสงฆ์ ครู นักศึกษา เพื่อศึกษาด้านพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน เพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนา การบริหารและการจัดการทางการศึกษาทางพระพุทธศาสนาร่วมกัน

               

     การเดินทางเริ่มจากการนั่งเรือผ่านจากแดนไทยมุ่งสู่ บ้านห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นั่งรถยนต์เส้นทางหมายเลข ๓ เอ มุ่งเข้าด่านตรวจคนเข้าเมืองที่บ่อเต็น-บ่อหาน เข้าสู่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ตลอดเส้นทางเราจะได้เห็นว่า ธรรมชาติยังคงความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะการทำสวนยางพารา จุดแรกที่ได้เข้าไปสัมผัสต่อวิถีชีวิตของชาวไทลื้อ คือเมืองหล้า ซึ่งในอดีต เป็นที่หยุดพักของนักเดินทาง แต่ปัจจุบันเมืองหล้าแห่งนี้ กลายเป็นเพียงเส้นทางผ่าน ไม่ค่อยมีใครหยุดพัก ด้วยการสัญจรไปยังเชียงรุ้งมีความสะดวกสบายกว่าเมื่อก่อน บรรยากาศของเมืองนี้ ได้เห็นวิถีชีวิตของผู้คนที่อยู่กันอย่างเรียบง่าย ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ ด้านวัฒนธรรมไทลื้อ ในยามราตรีก็มีแต่ความเงียบสงบ

เช้าขึ้นอีกวัน ได้เดินทางไปยังหมู่บ้านกาหลั่นป้า ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ได้รับการอนุรักษ์ให้คงสภาพไว้เหมือนเมื่อครั้งอดีต บ้านเรือนที่อยู่อาศัยมีลักษณะพิเศษ คือเสาจะไม่ฝังลงในดินวัดวาอารามมีลักษณะเช่นเดียวกับวัดที่อยู่ทางภาคเหนือของไทย จากนั้น ได้เดินทางมุ่งสู่เชียงรุ้ง จุดแรกที่เข้าไปสัมผัสคือวัดป่าเชต์ใหม่ ซึ่งรัฐบาลจีนได้ทุ่มงบประมาณมหาศาลสร้างวัดแห่งนี้ขึ้นมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ เนื่องจากเห็นว่า พระพุทธศาสนานิกายเถรวาท มีประวัติอันยาวนานมากับประวัติศาสตร์ของสิบสองปันนา และยังกำหนดให้วัดแห่งนี้ เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาของสิบสองปันนาและเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมพระพุทธศาสนาเถรวาทต่อไปในอนาคต จะเห็นว่ารัฐบาลจีนมองการณ์ไกลและเห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนาที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของชนชาวไทลื้อแห่งนี้

                หลังจากนั้นได้เดินทางไปยังวัดป่าเชต์เก่า ได้เข้ากราบนมัสการครูบาหลวงจอมเมือง ประธานวิทยาลัยพระพุทธศาสนา สิบสองปันนา สาขามณฑลยูนนาน และได้พบปะแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นพร้อมสรุปผลหลังจากได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงแลกเปลี่ยนการศึกษา พระพุทธศาสนาและวัฒนธรรม ระหว่าง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา ประเทศไทย กับ วิทยาลัยพระพุทธศาสนา สิบสองปันนา สาขามณฑลยูนนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อปี ๒๕๕๐ ซึ่ง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา ได้จัดส่งพระนิสิต จำนวน ๙ รูป เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจ ณ วิทยาลัยพระพุทธศาสนา สิบสองปันนา สาขามณฑลยูนนาน ณ วัดป่าเชต์ เมืองเชียงรุ้ง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา เป็นเวลา ๖ เดือน โดยได้รับทุนสนับสนุนจากงบพัฒนาจังหวัดพะเยา

                ปีการศึกษา ๒๕๕๑ วิทยาลัยพระพุทธศาสนา สิบสองปันนา สาขามณฑลยูนนาน ได้ส่งพระภิกษุ จำนวน ๕ รูป เข้าศึกษาระดับปริญญาตรี หลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา วิชาเอกพระพุทธศาสนา ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา และปีการศึกษา ๒๕๕๒ ได้จัดส่งพระภิกษุมาเรียนเพิ่มอีก ๑ รูป

                พระสุนทรกิตติคุณ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยวิทยาเขตพะเยา กล่าวว่า หลังจากที่วิทยาลัยพระพุทธศาสนา สิบสองปันนา ได้ส่งพระเข้าไปศึกษาที่วิทยาเขต ปัญหาที่พบคือ การสื่อสารด้านภาษา โดยเฉพาะภาษาไทย ท่านเหล่านั้น ไม่ได้ศึกษาภาษาไทยไปก่อน ดังนั้น ทางสิบสองปันนาจึงขอให้มหาวิทยาลัยได้จัดส่งอาจารย์ไปสอนภาษาไทยเพิ่มเติมก่อนที่จะจัดส่งเข้าศึกษาต่อที่ประเทศไทย และยังต้องเสริมด้านภาษาอังกฤษอีกด้วย นอกจากนั้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๒ วิทยาเขตพะเยามีมติจัดตั้ง ศูนย์แลกเปลี่ยนพระนิสิต นักศึกษาในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อเป็นศูนย์กลางในการบริหารงานตามข้อตกลงดังกล่าวให้มีเอกภาพและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การเดินทางมาครั้งนี้ จึงเป็นนิมิตหมายอันดีในการสานสัมพันธ์การศึกษาทางพระพุทธศาสนาของไทยและจีนให้มีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ตามนโยบายของ  พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย นอกจากนั้น ได้จัดนิทรรศการทางการศึกษา ประวัติของมหาวิทยาลัย ประวัติและผลงานทางวิชาการของอธิการบดี และการประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัย ให้เป็นที่รู้จักและแพร่หลายมากขึ้นได้แลกเปลี่ยนความรู้ด้านการศึกษาทางพระพุทธศาสนาระหว่างมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา กับ วิทยาลัยพระพุทธศาสนา สิบสองปันนา สาขามณฑลยูนนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และสร้างความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของนักวิชาการในระดับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูล และองค์ความรู้ด้านการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

ฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่/รายงาน


แหล่งข่าว : ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ
Print This Page    Sent to Friend
แสดงความคิดเห็น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • ประมุขสงฆ์ – ผู้นำชาวพุทธ 85 ประเทศ ร่วมเปิดงาน วิสาขบูชาโลก ครั้งที่ 20
    06 พ.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    8
  • The 20th UNITED NATIONS DAY OF VESK CELEBRATIONS 2025, VIETNAM
    06 พ.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    19
  • ขอเชิญร่วมงานวันจำนงค์ ทองประเสริฐ ครั้งที่ ๒๒ และฉลองอายุวัฒนมงคล ๘ รอบ ๙๖ ปี ศาสตราจารย์ จำนง ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต 2 พ.ค. 68 ณ อาคารวิปัสสนาธุระ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ชั้น๒ มจร วังน้อย
    30 เม.ย. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    69
  • ขอเชิญลงทะเบียนเข้าร่วมพิธีพิธีเจริญพระพุทธมนต์เฉลิมพระเกียรติและถวายพระพรชัยมงคลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสวันฉัตรมงคล ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๘
    30 เม.ย. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    54
  • ขอเรียนเชิญผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ นิสิต เเละบุคคลทั่วไป เข้าร่วมงานประชุมสัมมนาวิชาการนานาชาติ เรื่อง “ความสามัคคีและการโอบรับความหลากหลายเพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์: พุทธปัญญาเพื่อสันติภาพโลกและการพัฒนาที่ยั่งยืน”
    30 เม.ย. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    63