ข่าวประชาสัมพันธ์
ครบรอบ ๑ ทศวรรษ มหาจุฬาฯ ศรีสะเกษ
12 ก.ค. 55 | ข่าวมหาวิทยาลัย
314
ข่าวมหาวิทยาลัย
ครบรอบ ๑ ทศวรรษ มหาจุฬาฯ ศรีสะเกษ
วันที่ ๑๒/๐๗/๒๐๑๒ เข้าชม : ๗๒๔๙ ครั้ง

     วานนี้ (๙ ก.ค. ๕๕) เวลา ๑๓.๐๐ น. พระธรรมโกศาจารย์ ศ,ดร. อธิการบดี มจร พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัย เข้าร่วมพิธีฉลองครบรอบ ๑ ทศวรรษ มหาจุฬาฯ ศรีสะเกษ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ห้องเรียนจังหวัดศรีสะเกษ โดยมี พระราชกิตติรังษี  เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ, พระราชธรรมสารสุธี รองเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ และนายประทีป กีรติเรขา ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วยพุทธศาสนิกชน จำนวนมากกว่า ๑,๐๐๐ รูป/คน ให้การต้อนรับและร่วมพิธี ซึ่งในการจัดงานครั้งนี้ พระธรรมโกศาจารย์ ได้ปาฐกถาพิเศษเรื่อง "ทิศทางการจัดการศึกษาสงฆ์สู่อาเซียน" ทำให้ผู้เข้าร่วมพิธีได้ทราบถึง บทบาทของมหาวิทยาลัยกับการพัฒนาบุคลากรทางพระพุทธศาสนาในสถานการณ์ทางสังคมที่เปลี่ยนแปลง (การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘)


     มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  ห้องเรียนจังหวัดศรีสะเกษ เกิดขึ้นแนวคิดของหลวงปู่เครื่อง สุภทฺโท องค์อุปถัมภ์สถาบันการศึกษาแห่งนี้ ที่ได้ให้ไว้ว่า โรงเรียนคือโรงหล่อโรงหลอมมนุษย์ ท่านได้มอบหมายให้ลูกศิษย์ได้ดำเนินการเพื่อที่จะขอเปิดสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยท่านรับจะเป็นผู้ให้ความอุปถัมภ์ทั้งหมด กอปรกับคณะสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษ โดยมี พระราชวรรณเวที เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษในขณะนั้น พร้อมทั้งฝ่ายบ้านเมือง มีนายสุจริต นันทมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษในขณะนั้น ได้จัดประชุมร่วมคณะสงฆ์และส่วนราชการ ตลอดจากพ่อค้าประชาชนขึ้น เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๔ ณ ห้องประชุมใหญ่โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดสระกำแพงใหญ่ เพื่อให้ความอุปถัมภ์สนับสนุน มติที่ประชุมเห็นสมควรอย่างยิ่งที่จะดำเนินการขอขยายห้องเรียนระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตอุบลราชธานี มาที่จังหวัดศรีสะเกษ จึงได้ดำเนินการเปิดสอนในหลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๔๕ เป็นต้นมา โดยในระยะเริ่มต้นใช้อาคารเรียนโรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดสระกำแพงใหญ่ เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอน และสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้อนุมัติให้เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๔๕ คณะสงฆ์จังหวัดและฝ่ายบ้านเมืองจังหวัดศรีสะเกษ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมการกุศลต่าง ๆ เพื่อรวบรวมทุนทรัพย์สมทบกับมูลนิธิหลวงปู่เครื่อง สุภทฺโท อย่างต่อเนื่อง ต่อมา คณะกรรมการได้จัดหาและดำเนินการซื้อที่ดินเพื่อสร้างอาคารเรียนตามโครงการ จำนวน ๑๐ ไร่ ๕๑ ตารางวา และได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียน ขนาดกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๕๖ เมตร สูง ๓ ชั้น จำนวน ๑๘ ห้องเรียน งบประมาณในการก่อสร้าง ๑๘ ล้านบาท การจัดการเรียนการสอนในช่วงแรกนั้น ได้เปิดสอนในคณะพุทธศาสตร์ หลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา ในปี ๒๕๔๙ ขอเปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรการบริหารกิจการคณะสงฆ์ (ป.บส.) ในปี ๒๕๕๑ ขอเปิดคณะสังคมศาสตร์ สาขาวิชาการปกครอง และสาขาวิชาการจัดการเชิงพุทธ และในปี ๒๕๕๕ ได้รับนิสิตคฤหัสถ์เข้ามาศึกษาด้วย ปัจจุบันมีนิสิตสำเร็จการศึกษาแล้ว ๖ รุ่น รวมจำนวน ๑๘๔ รูป

     เนื่องจากสถานที่วัดสระกำแพงใหญ่มีพื้นที่จำกัดในการพัฒนา เพื่อที่จะยกระดับห้องเรียนให้เป็นศูนย์การทางการศึกษา ซึ่งจะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ พระเทพวรมุนี (วิบูลย์ กลฺยาโณ) เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ ประธานคณะกรรมการบริหารโครงการฯ จึงได้ปรึกษาหารือกับพระราชธรรมสารสุธี (ธีรังกูร) รองเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษที่รับผิดชอบงานด้านการศาสนศึกษา และผู้อำนวยการห้องเรียนฯ และร่วมระดมความความคิดของบุคลากรหลาย ๆ ส่วน ในขณะเดียวกัน ได้รับการประสานจากพระครูปริยัติวีราภรณ์ เลขานุการเจ้าคณะจังหวัดอำนาจเจริญ และองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำคำ ขณะนั้น เพื่อหาสถานที่จะดำเนินการสร้างศูนย์การศึกษาของคณะสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษ ที่สุดได้เห็นพ้องว่า ให้ขอใช้พื้นที่ป่าโนนทรายน้อย บ้านง้อ หมู่ ๒ ตำบลน้ำคำ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จำนวน ๒๓๑ ไร่ เป็นสถานที่ในการพัฒนาให้เป็นศูนย์การศึกษาของคณะสงฆ์จังหวัด และเป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ห้องเรียนจังหวัดศรีสะเกษ โดยผ่านการประชาคมหมู่บ้านและองค์กรส่วนท้องถิ่น ในปี ๒๕๕๐ เป็นต้นมา ได้ใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของพระนิสิต ต่อมา สภามหาวิทยาลัย ในคราวประชุมสภา ครั้งที่ ๒/๒๕๕๕ ได้มีมติอนุมัติให้ย้ายสถานที่ตั้ง ในปีการศึกษา ๒๕๕๔ ห้องเรียนจังหวัดศรีสะเกษ โดยความอุปถัมภ์ของคณะสงฆ์จังหวัด ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียนลักษณะทรงไทย ชั้นเดียว ขนาดกว้าง ๑๑ เมตร ยาว ๑๓๐ เมตร ๑๑ ห้องเรียน ๔ ห้องปฏิบัติการ แล้วเสร็จสมบูรณ์ สิ้นเงินในการก่อสร้าง ๖,๗๐๐,๐๐๐ บาท และได้รับเมตตาจากเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชได้ประทานนามอาคารว่า “อาคารสมเด็จพระพุฒาจารย์"

     นอกจากนี้คณะสงฆ์จังหวัด ห้องเรียนจังหวัดศรีสะเกษ และส่วนราชการจังหวัด ได้ร่วมกันจัดทำโครงการก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ  ๘๔  พรรษา ซึ่งเป็นอาคาร ๓ ชั้น ขนาดกว้าง ๒๗ เมตร ยาว ๗๒ เมตร งบประมาณในการก่อสร้าง๖๙ ล้านบาท ขอเชิญพุทธศาสนิกชน  ติดต่อร่วมทำบุญได้ที่
เวปไซต์
 
www.mcussk.ac.th

 


แหล่งข่าว : คณะครุศาสตร์
Print This Page    Sent to Friend
แสดงความคิดเห็น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • อธิการบดี มจร ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง พระพุทธศาสนากับอิสรภาพของมนุษย์โลก
    21 ก.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    16
  • แถลงการณ์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เรื่อง กรณีผู้บริหาร มหาวิทยาลัยปรากฎในข่าว แถลง ณ วันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๘
    17 ก.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    448
  • “พุทธนวัตกร บัณฑิตนักพัฒนาชุมชนเชิงสร้างสรรค์ด้วยปัญญาและคุณธรรม”
    08 ก.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    254
  • ❝อธิการบดี เมตตาตรวจเยี่ยมบูธนิทรรศการ แสดงผลงาน 20 ปี ใต้ร่มพระบารมีทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ❞
    05 ก.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    244
  • โครงการสืบสานงานพ่อต่อยอดทุนเล่าเรียนหลวงสําหรับพระสงฆ์ไทย
    05 ก.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    222