ข่าวประชาสัมพันธ์
เปิดแล้ว'โบสถ์กลางน้ำ'หลวงพ่อปัญญา
30 ต.ค. 55 | ข่าวมหาวิทยาลัย
1829
ข่าวมหาวิทยาลัย
เปิดแล้ว'โบสถ์กลางน้ำ'หลวงพ่อปัญญา
วันที่ ๓๐/๑๐/๒๐๑๒ เข้าชม : ๗๒๐๒ ครั้ง

 

เปิดแล้ว 'โบสถ์กลางน้ำ' มรดกธรรมหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ พร้อมมอบเหรียญรุ่น 1 ผู้ไปร่วมพิธี เปิดให้เข้าชมความงามจิตรกรรมฝาผนังทุกวัน เดินหน้าสร้างวัด "มจร" อำนวยความสะดวกพระนักศึกษานานาชาติปฏบัติศาสนกิจ

 

              29 ตุลาคม 2555; พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) พร้อมด้วยพระธรรมวิมลโมลี เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษดิ์ เจ้าคณะภาค 17 คณะผู้บริหาร คณาจารย์เจ้าหน้าที่ พระนิสิต มจร  คณะกรรมการดำเนินการสร้างอุโบสถกลางน้ำและพุทธศาสนิกชน ได้เข้าร่วมในพิธีเปิดอุโบสถ์กลางน้ำและแถลงข่าวความคืบหน้าการสร้างอุโบสถกลางน้ำ ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา 

              พระธรรมโกศาจารย์ กล่าวว่า อุโบสถกลางน้ำนี้ออกแบบโดยนายภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติปี 2537  ประเภทสาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) โดยรูปแบบของอุโบสถจะมีรูปแบบที่ต่างจากอุโบสถวัดอื่นๆ เพราะนอกจากจะเป็นอุโบสถกลางน้ำแล้ว ยังมีการสร้างให้มีลักษณะซ่อนรูป กล่าวคือ หากมองจากภายนอกจะเห็นว่าอุโบสถมีเพียงชั้นเดียว แต่ความจริงแล้วจะมีชั้นใต้ดินอยู่บริเวณใต้ลานของอุโบสถด้วย ซึ่งสามารถจุพระสงฆ์ได้ถึง 4,000  รูป  อุโบสถแห่งนี้ถือว่าเป็นอุโบสถกลางน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะสามารถจุพระสงฆ์ได้ถึง 4,000 รูป


              และเมื่ออุโบสถสร้างเสร็จแล้ว ทางมหาวิทยาลัย
มหาจุฬาฯจะมีการสร้างวัดขึ้นอีก 1 แห่ง ซึ่งพื้นที่ในการสร้างวัดนั้นได้รับการถวายที่ดินจากนางทองเล็ก ไม้ตราวัฒนา  และครอบครัว ได้ถวายที่ดินเขตติดต่อกับอุโบสถให้กับทางมหาวิทยาลัย จำนวน 12 ไร่ และด้านข้างของมหาวิทยาลัยอีก จำนวน 3 ไร่ ทั้งนี้เพื่อเป็นการรองรับการสร้างวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ ที่จะมีพระจากทั่วโลกมาศึกษาซึ่งจะต้องประจำอยู่ที่หอพัก หากมีวัดเกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยก็จะเป็นการอำนวยความสะดวกให้พระได้ปฏิบัติศาสนากิจอย่างเช่นการลงพระอุโบสถเป็นต้น              "จุดเริ่มการก่อสร้างมาจากที่หลวงพ่อปัญญา (พระพรหมมังคลาจารย์ หรือหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ อดีตเจ้าอาวาสวัดวัดชลประทานรังสฤษดิ์) ต้องการสร้างศาสนสถานให้คนรุ่นต่อๆ ไปได้อัศจรรย์ใจ เพราะท่านเห็นว่าคนสมัยก่อนยังสร้างศาสนสถานได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจได้ ทำไมคนสมัยนี้จะทำบ้างไม่ได้ โดยเมื่อปี 2548 หลวงพ่อปัญญาเดินทางมาที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ วังน้อย เพื่อติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างอาคารที่พักสงฆ์ที่ท่านอนุเคราะห์สร้างให้กับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ ท่านก็เห็นสระน้ำภายในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ และท่านก็บอกเลยว่าจะสร้างอุโบสถขึ้นกลางสระน้ำแห่งนี้ และเริ่มดำเนินการประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2548 ตรงกับวันมาฆบูชา โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นองค์ประธาน และตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปทาง มจร จะได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมความงามของอุโบสถกลางน้ำตั้งแต่เวลา 07.00-18.00น.ทุกวัน" พระธรรมโกศาจารย์ กล่าวและว่า

 
              พระธรรมวิมลโมลี กล่าวถึงความคืบหน้าการสร้างอุโบสถว่า ตามที่พระพรหมมังคลาจารย์ หรือหลวงพ่อปัญญา นันทภิกขุ ได้มีปณิธานก่อนที่จะมรณภาพว่า จะต้องสร้างอุโบสถกลางน้ำ ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยให้เสร็จก่อนที่จะมรณภาพ ถ้าอุโบสถไม่เสร็จ จะยังไม่ตาย แต่ด้วยความชราภาพทำให้หลวงพ่อปัญญา ต้องมรณภาพลงในวันที่ 10 ต.ค. 2550 ก่อนที่อุโบสถหลังนี้จะแล้วเสร็จ อาตมาจึงได้เข้ามารับช่วงเพื่อสานต่อปณิธานของหลวงพ่อซึ่งขณะนี้การดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จไปแล้ว 99% คาดว่าราวปี 2555 หรือต้นปี 2556  จะแล้วเสร็จทั้งหมด หลังจากนั้นจะประกอบพิธียกช่อฟ้าและส่งมอบให้กับทาง มจร ต่อไปคาดว่าจะประมาณเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2556  ขณะนี้ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถก็ดำเนินการติดตั้งเป็นที่เรียบร้อยโดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างอุโบสถกลางน้ำซึ่งเกิดจากศรัทธาของพุทธศาสนิกชนไปแล้วประมาณ 192 ล้านบาท

              ขณะที่บริเวณโดยรอบฐานของอุโบสถด้านนอกจะใช้หินทรายเขียวซึ่งเป็นหินแบบเดียวกับที่ใช้สร้างปราสาทหินนครวัด ประเทศกัมพูชา มาแกะสลักเกี่ยวกับวัฒนธรรมของภาคต่างๆ ขณะที่ด้านข้างของฐานอุโบสถจะมีบานประตูรายรอบ โดยที่บานประตูแต่ละบานจะมีการสลักเป็นเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย มีจุดที่น่าสนใจคือ มีการสลักเป็นรูปหมีแพนด้า “หลินปิง” ขณะอยู่ในอ้อมกอดของแม่ “หลินฮุ่ย” ส่วนด้านในของฐานอุโบสถ จะเป็นภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังเรื่องศีล 5 และภาพวาดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ ที่เกิดในประเทศไทย เพื่อเป็นการจารึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของไทยไว้ด้วย ส่วนพระประธานในอุโบสถมีชื่อว่า พระรัตนโกสินทร์ทรงเครื่อง เป็นพระพุทธรูปปางปราบพระยาชมพูบดีหรือปางทรงเครื่อง  ขณะที่บริเวณด้านหน้าของอุโบสถจะประดิษฐานรูปเหมือนของหลวงพ่อปัญญา ขนาดเท่าองค์จริง ส่วนศาลารายรอบอุโบสถจะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประจำวันเกิด

              พระธรรมวิมลโมลี กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ภายในพระอุโบสถกลางน้ำนั้นมีภาพของหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุทั้งภาพอดีตและปัจจุบัน ที่สำคัญภาพยังสื่อสะท้อนให้เห็นภาพของสังคมไทยที่แบ่งออกเป็นสีต่างๆ ภาพส่วนหนึ่งสื่อออกมาเป็นมือตบ ตีนตบ ปืน รวมทั้งเครื่องตรวจวัตถุระเบิดทางภาคใต้ สำหรับผู้วาดภาพคือ นายเมืองสิงห์ จันทร์ฉาย ช่างวาดภาพชาว อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ที่เคยวาดภาพในลักษณะเช่นนี้มาแล้วหลายแห่งอย่างเช่นที่วัดในพื้นที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี แต่ที่อุโบสถกลางน้ำแห่งนี้ถือว่าเด่นที่สุด ทั้งนี้เพื่อให้ศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ และพุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่าได้ทราบถึงความคืบหน้าของการก่อสร้างอุโบสถกลางน้ำ จึงพร้อมเปิดให้ชมจิตรกรรมฝาผนังซึ่งเป็นศิลปกรรมร่วมสมัยในวันนี้ ในด้านห้องน้ำที่สร้างใต้อุโบสถก็จะมีการปรับใหม่ให้เป็นห้องรับรองและได้ดำเนินการสร้างห้องน้ำใหม่ด้านนอกอุโบสถเพื่ออำนวยความแก่ผู้ที่เข้ามาภายในมหาวิทยาลัยและเข้ามาภายในบริเวณอุโบสถกลางน้ำ

              "เมื่อเข้ามาภายในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยก่อนถึงอุโบสถกลางน้ำ ท่านจะได้สักการะพระบรมสารีริกธาตุ ด้านหน้ามหาวิทยาลัย จากนั้นก็ร่วมถวายภัตตาหารเพลแด่พระนิสิตกว่า 2,000 รูปในอาคารหอฉัน และสักการะพระพุทธโสธรจำลองภายในอาคารหอประชุม มวก 48 พรรษา ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย" พระธรรมวิมลโมลี กล่าว

              ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในโอกาสนี้พระธรรมวิมลโมลียังได้มอบเหรียญหลวงพ่อปัญญารุ่น 1 ที่สร้างขึ้นเพียงรุ่นเดียวเพื่อเป็นอนุสรณ์ 108 ปีวัดอุปนันทาราม (วัดด่าน) จ.ระนอง เมื่อปี 2543 ซึ่งเป็นวัดที่หลวงพ่อปัญญาเคยบวชเป็นสามเณรและอนุญาตให้สร้างขึ้นสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ ให้กับผู้ไปร่วมงานด้วย

ที่มา; หนังสือพิมพ์คมชัดลึก 30 ตุลาคม 2555

ข้อมูล; สมหมาย  สุภาษิต


แหล่งข่าว : ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ
Print This Page    Sent to Friend
แสดงความคิดเห็น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • แถลงการณ์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เรื่อง กรณีผู้บริหาร มหาวิทยาลัยปรากฎในข่าว แถลง ณ วันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๘
    17 ก.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    237
  • “พุทธนวัตกร บัณฑิตนักพัฒนาชุมชนเชิงสร้างสรรค์ด้วยปัญญาและคุณธรรม”
    08 ก.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    176
  • ❝อธิการบดี เมตตาตรวจเยี่ยมบูธนิทรรศการ แสดงผลงาน 20 ปี ใต้ร่มพระบารมีทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ❞
    05 ก.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    176
  • โครงการสืบสานงานพ่อต่อยอดทุนเล่าเรียนหลวงสําหรับพระสงฆ์ไทย
    05 ก.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    148
  • ครบรอบ ๗ ปี วันก่อตั้งสถาบันพระไตรปิฎกศึกษา มจร
    01 ก.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    142