จากนโยบาย และวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยที่จะมุ่งไปสู่การเป็นศูนย์การศึกษาพระพุทธศาสนานานาชาติ จนเป็นที่มาของการจัดตั้งวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ และสถาบันภาษาเพื่อรองรับนโยบายดังกล่าวนั้น สถาบันภาษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จึงได้จัดโครงการ "เทศกาลสื่อภาษา สื่อรัก สื่อความสุข" ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ โดยได้เชิญ"ดร.ซาร่า เอกดาวี" และ "ปีเตอร์ แบรนด์ดอน" อาจารย์สอนภาษาจาก University of Oxford, UK. เป็นอาจารย์พิเศษสอนภาษาอังกฤษให้แก่ผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และบุคคลทั่วไปที่เป็นพระภิกษุ สามเณร แม่ชี และนักเรียนนักศึกษา โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๐-๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ สำหรับหลักสูตรที่ได้จัดให้มีการเรียนการสอนประกอบด้วย "หลักสูตรภาษาอังกฤษสำหรับครู หลักสูตรภาษาอังกฤษธุรกิจ หลักสูตรภาษาอังกฤษทั่วไป และหลักสูตรภาษาอังกฤษเชิงวิชาการ"

ดร.ซาร่านั้นเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษในหลายสถาบันของเมืองอ๊อกฟอร์ด อีกทั้งเป็นสอนเกี่ยวกับวรรณกรรมภาษากรีกที่มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด (University of Oxford) นักเรียนไทยจำนวนมากที่ไปเรียนหนังสือที่เมืองอ๊อกฟอร์ด ประเทศอังกฤษ จะรู้จักเป็นอาจารย์ท่านนี้อย่างดี เพราะการที่อาจารย์เข้าใจวัฒนธรรมไทย วิธีคิด วิธีการเรียนภาษาอังกฤษ รวมไปถึงจุดอ่อนด้านภาษาของเด็กไทยเป็นอย่างดี จึงทำให้เด็กนักเรียนไทยได้ตัดสินใจที่จะเรียนพิเศษ หรือติดตามอาจารย์ไปเรียนในสถาบันการศึกษาที่อาจารย์สอนอยู่ สำหรับ ดร.ซาร่าจะทำหน้าที่สอนในหลักสูตรภาษาอังกฤษเชิงวิชาการ (Academic Writing) และภาษาอังกฤษเชิงธุรกิจ (Business English)
ในขณะที่ปีเตอร์ (Peter) ได้ทำหน้าที่เป็นวิทยากรให้การพัฒนาและฝึกอบรมหลักสูตร “ภาษาอังกฤษสำหรับครูสอนภาษาอังกฤษ” (English for English Teachers) แก่คณะครูสอนภาคอังกฤษในเขตโรงเรียนพื้นที่ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และในเขตพื้นที่ต่างๆ รอบปริมณฑล ในขณะเดียวกัน ได้ทำหน้าที่ในการสอนวิชา “ภาษาอังกฤษทั่วไป” (General English) ปีเตอร์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการสอนภาษาอังกฤษขั้นพื้นฐานได้เดินทางมาเป็นอาจารย์ พิเศษ จึงทำให้พระภิกษุ สามเณร เจ้าหน้าที่ และเด็กนักเรียนได้มีโอกาสในการศึกษา และเรียนรู้ประสบการณ์ในการพัฒนาทักษะด้านการใช้ภาษาอังกฤษกับเจ้าของภาษา โดยตรง วิธีการเรียนการสอนของ "ปีเตอร์" นั้นจะเน้นหนักไปที่ทักษะการฟัง และการพูดเป็นด้านหลัก โดยเขาได้ให้เหตุผลว่า "เด็กไทยส่วนใหญ่ที่ตัวเองรู้จักนั้น เก่ง และแม่นยำในหลักไวยากรณ์ แต่ปัญหาที่พบคือ เด็กไทยขาดทักษะในการฟัง และการพูด ฉะนั้น เมื่อฟังไม่เข้าใจ จึงทำให้การโต้ตอบประสบปัญหาไปด้วย"

ด้วยเหตุดังกล่าว จึงทำให้ปีเตอร์พยายามที่จะวางรากฐานในการฟังและการพูดแก่กลุ่มที่เรียนใน หลักสูตรนี้ ถึงกระนั้น การเรียนของกลุ่มนี้มีระยะเวลาที่ค่อนข้างสั้นมาก เนื่องจากปัญหาของเวลา และงบประมาณที่ไม่สอดรับกัน อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผู้เรียนกลุ่มนี้ได้รับมากที่สุดคือ "แรงบันดาลใจ" ในการที่เรียนรู้ และพัฒนาทักษะการใช้ภาษาอังกฤษให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น อันจะก่อให้เกิดผลในระยะยาวของการพัฒนาภาษาในโอกาสต่อไป
สอบถามรายละเอียดการเรียนได้ที่
https://www.facebook.com/limcu.th |