ข่าวประชาสัมพันธ์
วันอาทิตย์ ที่ ๒๙ ก.ย. ๕๖ ขอเชิญร่วมสืบสานประเพณี “พิธีทำบุญถวายสลากภัตต์ และกวนข้าวกระยาสารท”
26 ก.ย. 56 | ข่าวมหาวิทยาลัย
344
ข่าวมหาวิทยาลัย
วันอาทิตย์ ที่ ๒๙ ก.ย. ๕๖ ขอเชิญร่วมสืบสานประเพณี พิธีทำบุญถวายสลากภัตต์ และกวนข้าวกระยาสารท
วันที่ ๒๖/๐๙/๒๐๑๓ เข้าชม : ๓๕๐๓ ครั้ง

                    ฝ่ายธรรมวิจัย  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ขอเชิญร่วมสืบสานประเพณี “พิธีทำบุญถวายสลากภัตต์ และกวนข้าวกระยาสารท” ณ อาคารหอฉัน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วังน้อย วันอาทิตย์ ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๖ เริ่มเวลา ๐๘.๓๐ น. เป็นต้นไป จนถึง เวลา  ๑๒.๐๐ น. มีรถออกจากวัดมหาธาตุ ฝั่งท่าพระจันทร์ เวลา ๐๗.๐๐ น. กลับ เวลา ๑๓.๓๐ น. กิจกรรมประกอบด้วยการแสดงพระธรรมเทศนา เรื่อง "อานิสงฆ์การทำบุญสลากภัต" การเจริญพระพุทธมนต์ และพิธีกวนข้าวกระยาสารท ถวายภัตตาหารเพลแก่พระสงฆ์ จำนวน ๑๕๐ รูป และรับประทานอาหารร่วมกัน พระสงฆ์อนุโมทนา เสร็จพิธี

                      ประเพณีสลากภัต  เป็นประเพณีทำบุญที่คนในปัจจุบันไม่ค่อยรู้จักกันดีนัก  เพราะมิใช่ประเพณีใหญ่โตแบบตรุษหรือสารท มักจะทำตามบ้านที่นิยมเลื่อมใส หรือมีสิ่งของพอที่จะรวบรวมมาถวายพระหรือเข้าสลากภัตได้ก็จะจัดพิธีนี้ขึ้น  ในทางภาคเหนือจะเรียกพิธีนี้ว่า "ทานก๋วยสลาก" คำว่า "ก๋วย" แปลว่า"ตะกร้า" หรือ "ชะลอม"

                      "สลากภัต"  หมายถึงอาหารที่ทายกถวายพระตามสลาก นับเข้าเป็นเครื่องสังฆทาน ในสมัยพุทธกาลพระพุทธองค์ทรงอนุญาตไว้ในคำสอนนิสสัยว่าเป็นอดิเรกลาภส่วนหนึ่งถวายได้ไม่จำกัดกาล สุดแต่ศรัทธาสำหรับในปัจจุบันนิยมทำในฤดูที่มีผลไม้อุดมสมบูรณ์ ในระหว่างเดือน ๖ จนถึงเดือน   ๘  เมื่อวัดใดจะจัดให้มีการถวายสลากภัต มัคทายกผู้เป็นหัวหน้าก็จะกำหนดวันและหาเจ้าภาพด้วยวิธีการต่างๆเช่น ประกาศป่าวร้องหาเจ้าภาพร่วมผู้ใดต้องการเป็นเจ้าภาพก็แจ้งชื่อไว้ ครั้นถึงวันกำหนดผู้เป็นเจ้าภาพก็จะมีการเตรียมสำรับกับข้าวและเครื่องไทยทานตามกำลังของตน เช่น หมาก เมี่ยง ไม้ขีดไฟ หอม กระเทียม สบู่ แปรงสีฟัน  ข้าวสารน้ำตาล และน้ำอ้อย เป็นต้น ต่างก็จะนำมารวมกันไว้ในบริเวณวัด

                        จากนั้นทายกผู้เป็นหัวหน้า ก็จะนำเบอร์มาติดที่สำรับกับข้าวของเจ้าภาพแต่ละรายแล้วเขียนเบอร์หมายเลขให้พระจับพระจับได้เบอร์อะไรของเจ้าภาพคนใดก็ไปฉันสำรับกับข้าวที่เจ้าภาพนำมา  ส่วนใหญ่ของที่เตรียมไว้จะพอดีระหว่างเจ้าภาพและพระที่นิมนต์มา ข้อสำคัญในการทำบุญสลากภัตก็คือ  เป็นการถวายทานแบบไม่เจาะจงตัวผู้รับเมื่อพระองค์ใดจับได้เบอร์ของเจ้าภาพ เจ้าภาพไม่ควรแสดงความยินดียินร้ายในผู้รับ   ก่อนที่จะมีการเส้นสลาก(จับสลาก) ก็จะมีการฟังเทศน์อย่างน้อย ๑ กัณฑ์ต่อจากนั้นก็จะมีการยกของประเคนตามสลากเมื่อพระฉันเสร็จแล้วก็จะอนุโมทนาและให้พรเจ้าภาพก็กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติผู้ที่ล่วงลับไปแล้วเป็นอันเสร็จพิธี (ที่มา http://www.thaigoodview.com)
                      อ่านประวัติความเป็นมาได้ที่เว็บไซต์  http://www.watrongyang.com

                     ในส่วนของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วังน้อย ได้จัดสลากภัตปีแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ปีนี้เป็นปีที่ ๓ โดยมีฝ่ายธรรมวิจัยเป็นผู้รับผิดชอบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมทุนค่าภัตตาหารแก่พระภิกษุ-สามเณร และทำนุบำรุงและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมอันสำคัญของชาติ

                      ติดต่อสอบถามและบริจาคได้ที่ ฝ่ายธรรมวิจัย มจร   โทร. ๐๓๕ -๒๔๘๐๐ ต่อ ๘๓๑๖, ๘๓๑๗ หรือที่ ๐๘๙ -๔๙๑๙๖๖๑, ๐๘๙ -๘๙๗๔๗๒๒

                     ข่าวโดยพระมหาศรีทนต์ สมจาโร ผู้อำนวยการส่วนหอสมุดกลาง


แหล่งข่าว : ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ
Print This Page    Sent to Friend
แสดงความคิดเห็น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • ประกาศ เรื่อง เสนอยื่นซองประมูลร้านจำหน่ายนํ้าดื่ม ที่ศูนย์อาหารสวัสดิการภายใน ปี พ.ศ. ๒๕๖๗
    14 พ.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    81
  • พระพรหมวัชรธีราจารย์, ศ.ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย บรรยายพิเศษเรื่อง บริหารกิจการคณะสงฆ์ในยุคดิจิทัล
    13 พ.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    57
  • สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันวิสาขบูชา 2568 
    11 พ.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    113
  • พระพรหมบัณฑิต, ศ.ดร. ประธานกรรมการสมาคมสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก กล่าวสรุปงาน
    10 พ.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    76
  • รองศาสตราจารย์ ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถวายรายงานต่อประธานในพิธี
    10 พ.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    62