ข่าวประชาสัมพันธ์
นโยบายพระธรรมโกศาจารย์ : ห้องสมุดคือดรรชนีชี้วัดความเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาโลก
10 ม.ค. 54 | ข่าวมหาวิทยาลัย
418
ข่าวมหาวิทยาลัย
นโยบายพระธรรมโกศาจารย์ : ห้องสมุดคือดรรชนีชี้วัดความเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาโลก
วันที่ ๑๐/๐๑/๒๐๑๑ เข้าชม : ๑๔๓๙๐ ครั้ง

            เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๔ พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต ป.ธ.๙,Ph.D.) ศาสตราจารย์, ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์, อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้มอบนโยบายพัฒนาห้องสมุดมหาวิทยาลัย แก่ผู้บริหาร บรรณารักษ์ เจ้าหน้าที่ห้องสมุด ในการประชุมกลุ่มบริหารห้องสมุด บรรณารักษ์ เจ้าหน้าที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ณ มจร วังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา "เป้าหมายของการพัฒนามหาวิทยาลัย คือให้การเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ใหญ่แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ วิสัยทัศน์กับปรัชญา  ปรัชญามหาวิทยาลัยคือจัดการศึกษาพระพุทธศาสนา บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ พัฒนาจิตใจและสังคม ๓ ประโยคนี้ เป็นดรรชนีวัดห้องสมุด เพราะมหาวิทยาลัยเราจะเป็นมหาวิทยาลัยเฉพาะทาง 
             สภามหาวิทยาลัยได้มีมติไปแล้ว  ห้องสมุดจะต้องมีหนังสือพระพุทธศาสนาเป็นหลัก  ถ้าขาดหนังสือพระพุทธศาสนาก็ไม่ตรงตามวิสัยทัศน์ ของมหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาด้านพระพุทธศาสนา และวิสัยทัศน์กับหนดให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาระดับนานาชาติ หมายความว่าหนังสือด้านพระพุทธศาสนา ไม่ใช้เฉพาะภาษาไทย ถ้าเปิดเอกอังกฤษในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก หนังสือภาษาอังกฤษก็ต้องมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือด้านพระพุทธศาสนา ถ้าเราดูปรัชญามหาวิทยาลัยจะเน้นเฉพาะด้านพระพุทธศาสนาเพียงอย่างเดียว ปรัชญาจะมี ๓ ประโยค ประโยคแรก ก็คือจัดการศึกษาพระพุทธศาสนา ประโยคที่ ๒ บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ ก็หมายความว่า มหาวิทยาลัยมีพระพุทธศาสนาเป็นแกนแล้วก็มีวิชาเอกกว่า ๓๐ วิชาเอก แล้วแต่ส่วนงานไหนจะเปิด ที่ว่า ๓๐ วิชาเอก ก็คือเอาพระพุทธศาสนาไปบูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ เช่น รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ ภาษาศาสตร์ จิตวิทยา การหาหนังสือเข้าห้องสมุดก็ต้องตรงกับศาสตร์ สาขา ที่เราเปิด เวลาที่จะขอเปิดวิชาเอกนั้นๆ สภาวิชาการก็จะถามว่า วิชาเอกนั้นๆ มีหนังสือกี่เล่ม และหนังสือที่มีกี่เล่มนั้นทำเคตล๊อคพร้อมอ่านหรือยัง ฉะนั้นคำว่าบูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ ให้มีหนังสือครบตรงศาสตร์สมัยใหม่ยิ่งดี

            เป็นที่รู้กันว่ามหาวิทยาลัยสมัยนี้ มันไม่ได้อยู่ที่ครูอาจารย์เพียงอย่างเดียวที่จะให้มหาวิทยาลัยผ่านการประกันคุณภาพการศึกษา มันอยู่ที่ห้องสมุดเป็นหลัก ถ้าห้องสมุดได้มาตรฐาน อาคารอาจจะไม่ดี  ก็เป็นมหาวิทยาลัยได้  ต่อให้อาคารเรียนดี ห้องเรียนดี  มีมาตรฐาน แต่ห้องสมุดไม่ได้มาตรฐานก็เหมือนกับโรงเรียนมัธยม ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องพัฒนาห้องสมุดให้ทัน กับการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัย  เพราะว่าการที่นิสิตจะเรียนเก่งหรือไม่เก่ง หนึ่ง มันอยู่ที่มีหนังสือห้องสมุดให้เขาค้นคว้าแค่ไหน   เขาใช้ประโยชน์แค่ไหน  ห้องสมุดน่าอ่าน  มนุษย์สัมพันธ์ของเจ้าหน้าที่ห้องสมุดระบบการยืม การค้นหาที่ไม่อยากนัก  ฉะนั้นมหาวิทยาลัยจึงได้กำหนดเป็นนโยบายมานานแล้วว่า เราจะต้องตั้งงบประมาณเพื่อซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดและอื่นๆ ที่เกี่ยวกับห้องสมุด เงินอย่างอื่นไม่มีปีนี้ไม่ต้องทำก็ได้ แต่ถ้าเป็นงานห้องสมุดต้องเป็นไพออเรดี้"

               พระธรรมโกศาจารย์ ได้มอบให้พระครูปลัดเถรานุวัตร รักษาการผู้อำนวยการสำนักหอสมุดและเทคโนโลยีสารสนเทศ เร่งจัดทำยุทธศาสตร์ แผนพัฒนาห้องสมุด เพื่อบรรจุในแผน ๑๑ ของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะแผนพัฒนาที่จะเป็นตัวชี้วัดห้องสมุดเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาโลก ที่รวบรวมพระไตรปิฎก อรรถกถา ฏีกา อนุฏีกา หนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ พัฒนาห้องสมุดมหาจุฬาฯ เป็นแหล่งข้อมูลด้านทางพระพุทธศาสนาอีกด้วย
 
               พระมหาศรีทนต์ สมจาโร ผู้อำนวยการส่วนหอสมุดกลาง กล่าวว่า "ห้องสมุดมหาวิทยาลัย กำลังดำเนินการรวบรวมพระไตรปิฎกและคัมภีร์สำคัญๆ ทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะพระไตรปิฎกให้มีครบทุกชาติทุกภาษา โดยเฉพาะพระไตรปิฎกที่จัดพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่มีอยู่ในห้องสมุดมหาจุฬาฯ เป็นพระไตรปิฎกฉบับแรกของโลก ซึ่งได้เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี จึงขอเชิญพระสงฆ์และประชาชนทั่วไปได้มาร่วมกันถวายหนังสือพระไตรปิฎกและหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เช่น หนังสือหลวงพ่อพุทธทาส นักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาไว้เป็นสมบัติพระพุทธศาสนา โดยแจ้งความจำนงค์เป็นเจ้าภาพบริจาคหนังสือ สื่อการศึกษาได้ที่ส่วนหอสมุดกลาง มหาจุฬาฯ ถวายหนังสือเป็นสมบัติพระศาสนา ถวายหนังสือคือการถวายปัญญา เป็นการสร้างมหาปัญญาบารมี"


แหล่งข่าว : ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ
Print This Page    Sent to Friend
แสดงความคิดเห็น